คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15158/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แต่ตามสัญญากู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ดังกล่าวปรากฏว่า เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้มีเพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใด อย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้ว และการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้ ซึ่งตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์ดังกล่าวเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมและจำนอง จำนวนเงิน 1,273,123.96 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดห้องชุดเลขที่ 236/28 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดมโนกิตต์คอนโดมิเนียม อาคารบี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 23160 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า มูลหนี้กู้ยืมที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จึงเห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะบังคับจำนองห้องชุดเลขที่ 236/28 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดมโนกิตต์คอนโดมิเนียม อาคารบี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 23160 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร อันเป็นหลักประกันต่อไป
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังว่า ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 469,000 บาท กับธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็ม.แอล.อาร์. บวก 5 ต่อปี และลูกหนี้ที่ 1 ตกลงผ่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน เดือนละ 7,000 บาท เริ่มงวดแรกวันที่ 1 มีนาคม 2539 โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 และลูกหนี้ที่ 1 จดทะเบียนจำนองห้องชุดเลขที่ 236/28 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดมโนกิตต์คอนโดมิเนียม อาคารบี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 23160 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ ภายหลังทำสัญญาลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้มาจากธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ต่อมาบริษัทวิริยะลิสซิ่ง จำกัด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งบังคับคดี เจ้าหนี้จึงไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น ศาลแพ่งมีคำสั่งเป็นคดีสาขาหมายเลขแดงที่ ช.263/2551 ในคดีหมายเลขแดงที่ 7768/2541 ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี คำนวณนับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 18 มิถุนายน 2551) ย้อนหลัง 5 ปี และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันหลังจากยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น หากโจทก์ถอนการยึดหรือไม่ดำเนินการบังคับคดีต่อให้เจ้าหนี้เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีแทนโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้เดิม สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) และเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดเมื่อใด แม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าในตอนที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้เดิมจะไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้นน้อยกว่าสัญญาก็ตาม แต่พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ก็มีแต่เพียงเอกสารการคำนวณภาระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้จัดทำขึ้นเอง โดยไม่มีหลักฐานว่าลูกหนี้นำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมเมื่อใดอย่างไร การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก (วันที่ 2 มีนาคม 2539) จึงชอบแล้ว ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ตามสัญญากู้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 สิทธิเรียกร้องในหนี้กู้ยืมเงินจึงขาดอายุความแล้วและการขาดอายุความในส่วนของหนี้กู้ยืมเงินถือว่าหนี้กู้ยืมเงินขาดอายุความทั้งหมด มิใช่เพียงส่วนที่เกิน 5 ปี ดังที่เจ้าหนี้อุทธรณ์มา แต่ในส่วนหนี้จำนองนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติให้ผู้รับจำนองบังคับจำนองได้แม้หนี้ที่ประกันขาดอายุความ แต่จะบังคับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ดังนั้น แม้หนี้ประธานตามสัญญากู้จะขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับจำนองได้และตามคำสั่งของศาลแพ่งคดีสาขาหมายเลขแดงที่ ช.263/2551 ในคดีหมายเลขแดงที่ 7768/2551 ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงไม่เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 1 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์เข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นมานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดห้องชุดเลขที่ 236/28 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดมโนกิตต์คอนโดมิเนียม อาคารบี ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 23160 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ในต้นเงิน 427,449.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.3 ต่อปี คำนวณนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2551 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ย้อนหลังขึ้นไป 5 ปี ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share