แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่นได้ไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดี และเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน คดีที่เกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกัน หรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดี และไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สำหรับคดีนี้และคดีอื่นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อกันนั้น แต่ละคดีมีวันเวลาสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียหายต่างกันเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ จึงนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองติดต่อกันเกินกว่า 50 ปีได้
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 13 ปี 4 เดือน และให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5936/2532, 2331/2532, 2139/2532, 5738/2532,4437/2532 และ 9250/2531 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองถูกฟ้องและถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีต่าง ๆ รวมทั้งคดีนี้ด้วย โดยเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 รวม 8 คดี จำคุก 107 ปี 4 เดือน เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 รวม 9 คดี จำคุก 127 ปี 4 เดือน เมื่อปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดให้จำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี ดังนั้น จึงต้องนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองติดต่อกันสำหรับคดีต่าง ๆ ได้ไม่เกินคนละ 50 ปี จึงขอให้ปรับโทษตามกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่กรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ขึ้นไปเว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โทษจำคุกทั้งสิ้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 50 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำเลยในกรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมและถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน หรือในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันคดีที่เกี่ยวกันกันซึ่งโจทก์ควรจะฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกัน หรือควรจะมีการรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่โจทก์กลับแยกฟ้องเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน กรณีจึงจะอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกา แต่ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองได้ความว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 รวม 8 คดี และฟ้องจำเลยที่ 2 รวม9 คดีนั้น แต่ละคดีมีวันเวลาสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียหายต่างกันจึงเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ จึงนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองติดต่อกันเกินกว่า 50 ปีได้ คดีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3)
พิพากษายืน