คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15120/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าว จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,559.82 บาท แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิม ๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามและการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีแรกถึงสำนวนคดีที่สามซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนคดีที่สี่ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในสำนวนคดีแรกถึงสำนวนคดีที่สามซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนคดีที่สี่ว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสามตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนคำฟ้องในสำนวนที่สี่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องคดีในสำนวนที่สี่
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องในสำนวนคดีที่หนึ่งถึงที่สาม และขอให้บังคับโจทก์ทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่จำเลยตามคำขอท้ายคำฟ้องในสำนวนที่สี่
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,780 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,071 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 9,970 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 183,390 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 188,841 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 119,649 บาท ให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,501 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 6,294 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 3,988 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 311,763 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 358,796 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 215,370 บาท ในส่วนคำฟ้องของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงานให้พนักงานปฏิบัติตาม แต่ขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าวเป็นของใหม่เพิ่งมีขึ้นเมื่อปี 2549 พนักงานที่ปฏิบัติงานมานานอย่างโจทก์ทั้งสามย่อมยังยึดติดกับการปฏิบัติงานอย่างเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้จัดการโรงงานเหล็กซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้จัดทำขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าวได้มีการกวดขันให้พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าวอย่างจริงจังหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานที่จำเลยกำหนดขึ้นใหม่จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหาย และความเสียหายที่เกิดแก่จำเลยเนื่องจากพัสดุขาดหายไปนั้นอาจเกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกลงบัญชี ความผิดพลาดนี้แม้อาจมีส่วนเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายพัสดุที่ต้องรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ควรมีแต่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบเพราะยังมีพนักงานพัสดุอื่นอีกหลายคนรวมถึงผู้บังคับบัญชาระดังสูงที่ควรต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ความเสียหายทั้งหมดเนื่องจากพัสดุขาดหายยังไม่อาจฟังได้ว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ทั้งสามที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างเฉพาะโจทก์ทั้งสามเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคกัน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการดูแลพัสดุโรงงานหลังคาเหล็กของจำเลย แม้จะมีพนักงานอื่นในฝ่ายพัสดุ แต่พนักงานอื่นนั้นไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมดูแลการอนุมัติการเบิกจ่ายพัสดุโดยตรงเช่นโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่มีกุญแจเปิดปิดห้องพัสดุ ส่วนผู้จัดการโรงงานเป็นผู้บริหารมีหน้าที่บริหารจัดการ ควบคุมและประชุมวางแผนตามนโยบายของจำเลย จึงไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการดูแลงานพัสดุ การกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยประการแรกนี้มีวัตถุประสงค์ให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่มีหน้าที่รับผิดชอบพัสดุที่ขาดหายไป พนักงานอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การที่พัสดุขาดหายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ทั้งสาม อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าว จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,559.82 บาท แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิม ๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม อุทธรณ์ของจำเลยในประการนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลย จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,559.82 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอุทธรณ์ของจำเลยในประการนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้ไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share