คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15113/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย และให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิกถอนหรือทำลายคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด”
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โดยฟ้องโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี จึงเป็นกรณีแปลความได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมต้องเรียกพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมิได้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี จึงทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนชื่อ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนชาติทวีค่า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้โจทก์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ 28/2550 และบังคับให้จำเลยชำระเงิน 102,853.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2550 อันเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 87,983.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 3 เมษายน 2550) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลย จึงไม่พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ 28/2550
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,300 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้งทุกวันสิ้นเดือนโดยจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2550 ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยไปพบพนักงานตรวจแรงงานยอมรับว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,300 บาท ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 จริง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 และนำคดีมาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ภายในสามสิบวัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน แต่มิได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งเป็นจำเลยด้วย
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ 28/2550 ที่มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย และให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิกถอนหรือทำลายคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่ง ที่ 28/2550 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โดยฟ้องโจทก์มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ 28/2550 จึงเป็นกรณีแปลความได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมต้องเรียกพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมิได้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี จึงทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่โจทก์ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนชื่อ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนชาติทวีค่า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้โจทก์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนนี้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องในส่วนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและการเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share