คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1511/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และผู้คัดค้านคัดค้านว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และยังได้คัดค้านว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านอีกด้วยนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้แยกคดีโดยให้ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านภายใน 1เดือนเฉพาะประเด็นที่ว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องเป็นของฝ่ายใดก็ตาม หากผู้ร้องไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด แต่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแทน ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหาได้ไม่ เพราะการเพิกเฉยให้ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)นั้นหมายถึงการไม่ดำเนินคดีในคดีนั้นๆเอง การฟ้องร้องคดีใดๆ ก็ตามเป็นสิทธิของบุคคลที่จะกระทำได้ภายในอายุความจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทิ้งฟ้อง.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายเจริญ ดามาพงศ์ (พระครูเจริญ ดามาพงศ์) มีบุตรคือ ผู้ร้องที่ 2 และนางสุดา ศรีโสภณ ซึ่งนายเจริญให้การรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว นายเจริญอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อพ.ศ. 2508และถึงแก่มรณภาพขณะยังเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม2528 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ก่อนถึงแก่มรณภาพพระครูเจริญมีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากไว้ในธนาคารประมาณ 1,020,000 บาทการจัดการมรดกของพระครูเจริญมีเหตุขัดข้อง จึงขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มิได้เป็นภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพระครูเจริญตามลำดับ จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการมรดกบัญชีเงินฝากในนามพระครูเจริญเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ผู้ร้องทั้งสองไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนัดสืบพยานผู้ร้องทั้งสองให้แยกคดีโดยให้ผู้ร้องทั้งสองฟ้องผู้คัดค้านภายในกำหนด 1 เดือน เฉพาะประเด็นในชั้นชี้สองสถานที่ว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องเป็นมรดกของพระครูเจริญหรือของผู้คัดค้าน และให้งดการดำเนินคดีนี้ไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีดังกล่าว
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง และไม่ได้ฟ้องผู้คัดค้านภายในกำหนด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องอ้างว่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 และมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสองทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานของผู้ร้องทั้งสองและพยานผู้คัดค้านให้เสร็จสิ้นกระแสความแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามรูปคดี
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีชอบหรือไม่เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอจัดการมรดกพระครูเจริญ เมื่อมีผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ก็ต้องดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท โดยผู้ร้องทั้งสองมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลยในคดีนี้นอกจากผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกพระครูเจริญแล้วยังได้คัดค้านว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องหมายเลข 3เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านอีกด้วย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาคดีโดยไต่สวนคำร้องเฉพาะประเด็นในคำร้องขอจัดการมรดกว่าผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระครูเจริญหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องหมายเลข 3 เป็นของผู้คัดค้านหรือไม่นั้นชอบที่ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านจะไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องดำเนินคดีฟ้องผู้คัดค้านภายใน 1 เดือน เฉพาะประเด็นที่ว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องหมายเลข 3 เป็นของฝ่ายใด เมื่อผู้ร้องไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด แต่ได้อุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 13สิงหาคม 2529 แทนนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหาได้ไม่เพราะกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)ที่บัญญัติว่า ‘โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดนั้นหมายถึงการไม่ดำเนินคดีในคดีนั้นๆเอง และการฟ้องร้องคดีใดๆ ก็ตาม เป็นสิทธิของบุคคลที่จะกระทำได้ภายในอายุความ ทั้งผู้ร้องทั้งสองยังติดใจดำเนินคดีนี้ไม่ได้ทิ้งฟ้องแต่อย่างใด แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานของผู้ร้องและของผู้คัดค้านทั้งสองประเด็นนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้ว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานของผู้ร้องทั้งสองและของผู้คัดค้านเฉพาะประเด็นว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของพระครูเจริญหรือไม่นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share