คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1510-1511/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 14 หยุดงานโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลากิจ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่เคยได้รับคำเตือนในเรื่องขาดงานโดยยื่นใบลาป่วยและมาสายกับเรื่องแจ้งในใบลาเท็จดังนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 14 ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว อันจะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

คดีสองสำนวน ศาลแรงงานกลางสั่งรวมพิจารณาพิพากษา
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 เนื่องจากจำเลยที่ 14 ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว มิใช่การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เป็นกรรมการ ที่ชี้ขาดให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 14
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ให้การว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำนวนหลังจำเลยที่ 14 เป็นโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 14 โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 14
โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และให้โจทก์จ่ายเงินที่ต้องชำระจำนวน 817 บาทและค่าชดเชยจำนวน 29,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยไปตามลำดับ โจทก์อุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าจำเลยที่ 14 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โดยอุทธรณ์เป็นใจความว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ได้ตักเตือนจำเลยที่ 14 เมื่อวันที่ 15 มกราคม2529 ตามเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2529จำเลยที่ 14 ได้ลาหยุดอีกตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 อันเป็นการแจ้งใบลาเท็จต่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือตักเตือนในวันที่ 20 มกราคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยที่ 14 ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน ในวันเดียวกันนั้นได้จงใจที่จะกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งอีกได้ยื่นใบลาตามเอกสารหมาย จ.6 ขอลาในวันที่ 21มกราคม 2529 เพื่อไปศาล โจทก์จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 14 ลาตามใบลานั้น แต่สงสัยว่าจำเลยที่ 14 อาจไม่ได้ไปศาลจริง จึงได้สั่งให้ส่งหลักฐานแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 14 เพิกเฉยตลอดมาจนในที่สุดโจทก์ให้ทนายโจทก์ไปตรวจดูหลักฐานแต่ไม่พบว่าจำเลยที่ 14 ไปดำเนินการตามใบลา โจทก์จึงเลิกจ้าง ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 14 ในการแจ้งใบลาเท็จตามเอกสารหมาย จ.6เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.5นั้น พิเคราะห์แล้วในปัญหาข้อนี้ ศาลแรงงานกลางฟังว่า ในวันที่15 มกราคม 2529 โจทก์ได้ออกคำเตือนให้จำเลยที่ 14 ลงชื่อรับทราบว่าตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2529 จำเลยที่ 14 ขาดงานโดยมีใบลาป่วย 1 วัน และมาทำงานสาย 5 วัน ตามเอกสารหมาย จ.9หลังจากนั้นวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2529 จำเลยที่ 14 ได้ลากิจส่วนตัวอ้างว่ามีเรื่องยุ่งๆ ที่บ้าน ตามเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 ซึ่งโจทก์ได้อนุมัติให้ลา แต่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529โจทก์ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้โจทก์ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยที่ 14 ได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529 โจทก์จึงทำหนังสือตักเตือนจำเลยที่ 14เกี่ยวกับการลาในวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2529 ว่าข้อความที่แจ้งในใบลานั้นเป็นเท็จ ขออย่าได้กระทำอีก ตามเอกสารหมาย จ.5แต่จำเลยที่ 14 ไม่ยอมลงชื่อรับทราบ ในวันที่ 20 มกราคม 2529นั่นเอง จำเลยที่ 14 ได้ยื่นใบลาขอไปศาลในวันที่ 21 มกราคม2529 โจทก์ก็อนุญาตให้ลา ครั้นวันที่ 22 มกราคม 2529 จำเลยที่14 ไปทำงาน โจทก์ได้สั่งให้จำเลยที่ 14 ส่งหลักฐานในการลาไปศาล ตามเอกสารหมาย จ.7 แต่จำเลยที่ 14 เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 14 ได้ยื่นใบลา ตามเอกสารหมาย จ.10อีก โดยฝากนายนพดล ยามรักษาการณ์ ไปเสนอต่อโจทก์แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติใบลา ครั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 14 ไปทำงาน โจทก์จึงสอบถามถึงการขาดงานแล้วโจทก์จึงได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 14 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าเหตุที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 เนื่องจากจำเลยที่ 14 ได้กระทำผิดต่อเนื่องกันตลอดมาอันเป็นการจงใจขัดคำสั่งของโจทก์ โจทก์จึงเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 583ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เพราะการกระทำของจำเลยที่ 14 ไม่เป็นการกระทำตามข้อ 47 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 14 มีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่นั้นศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 14 ได้ยื่นใบลาตามเอกสารหมาย จ.10 ขอลาในวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์ 2529 โดยฝากใบลานายนพดลยามรักษาการณ์ไปเสนอต่อโจทก์ แต่โจทก์ยังไม่อนุมัติใบลา ครั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 14 ไปทำงาน โจทก์ได้สอบถามถึงเรื่องการขาดงาน แล้วจึงได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่14 หาได้ฟังข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 14 ยื่นใบลาตามเอกสารหมาย จ.6 นั้นเป็นการแจ้งเท็จในใบลาต่อโจทก์ และถือเป็นเหตุเลิกจ้างดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ในตอนท้ายไม่ ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในส่วนนี้จึงแตกต่างและนอกเหนือไปจากข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 14 จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 14 ยื่นใบลาในวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์ 2529 เรื่องขอลาไปพบคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามเอกสารหมาย จ.10 โดยฝากยามรักษาการณ์ไปเสนอต่อโจทก์ แล้วได้หยุดงานไปก่อนได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นนายจ้างครั้งนี้แม้จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 6 ก. ที่กำหนดเกี่ยวกับการลากิจว่าต้องทำหนังสือลากิจขออนุญาตล่วงหน้าและต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือเสียก่อนจึงจะหยุดงานได้ ก็เป็นเรื่องการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลากิจ จึงเป็นคนละเรื่องกับคำเตือนตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นเรื่องขาดงานโดยยื่นใบลาป่วยและมาสาย ส่วนคำเตือนตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเรื่องข้อความที่แจ้งในใบลาเท็จ ดังนั้นตามพฤติการณ์เช่นว่านี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 14 ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งจะเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน อันเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะการกระทำของจำเลยที่ 14 ไม่ต้องด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์เอกสารหมาย จ.13 ข้อ 8.3 ซึ่งกำหนดว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานผู้ซึ่งพบว่ามีความผิดดังต่อไปนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยคือ ‘(ง) ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของบริษัทหรือฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย โดยบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงบริษัทไม่จำต้องตักเตือน’ อันมีข้อความทำนองเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) นั่นเอง เช่นนี้โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 14 ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 14 มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…’
พิพากษายืน.

Share