แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง มีอายุความ 2 ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคแรก จะนำเอาอายุความในมูลละเมิดตามมาตรา 448 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน1 ท-6847 กรุงเทพมหานคร ของนายวิเชียร คุณจันทร์เถื่อนผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ-8129 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมพ.ศ. 2528 นายสมเกียรติ ศรีคุณ ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้จากสี่แยกถนนวิทยุมุ่งหน้าไป ถนนเพลินจิต ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากถนนเพลินจิตไปสี่แยกถนนวิทยุ แซงรถคันหน้าล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านขวามือจึงทำให้เฉี่ยวชนรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ที่แล่นสวนทางมาด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ทำให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายต้องซ่อม โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมแล้วเป็นเงิน 11,000 บาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2528 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน11,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่25 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินถึงวันฟ้อง จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่มูลคดีเกิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2ในประเด็นเรื่องอายุความเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้ต้องนำเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับ จะนำเอาอายุความ 2 ปีตามมาตรา 882 มาใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2 จ-8129 กรุงเทพมหานคร ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งมีอายุความ2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย ตามมาตรา 882 วรรคแรก จะนำเอาอายุความในมูลละเมิดมาใช้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ เมื่อคดีนี้เหตุวินาศภัยเกิดในวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2529 ยังไม่พ้นกำหนดสองปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุในฎีกาอีกว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำเอาอายุความตามมาตรา 882 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า ในวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือและนัดสืบพยานจำเลยด้วย ทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 มาศาล ทนายโจทก์แถลงว่าไม่มีพยานมาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ที่เหลือแล้วทำการสืบพยานจำเลยที่ 2 ได้1 ปาก ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่าไม่มีพยานอื่นมาศาล ขอหมายเรียกไว้แล้วแต่ส่งหมายไม่ได้ตามตัวนายสุขเกษมพยานไม่พบ พยานตามหมายเรียกอีก 2 คนติดธุระ ขอเลื่อนการพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่สมควร จึงให้งดสืบพยานจำเลยแล้วนัดฟังคำพิพากษาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า วันนั้นเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 เป็นครั้งแรกและทนายจำเลยที่ 2 ก็ได้นำพยานเข้าสืบ 1 ปากแล้วจึงได้แถลงขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 อีก 3 ปาก ซึ่งยังส่งหมายเรียกให้แก่พยานดังกล่าวบางคนไม่ได้ และปรากฏตามสำนวนว่าทนายจำเลยที่ 2 ได้ขอหมายเรียกพยานทั้งสามปากดังกล่าวไว้จริงอีกทั้งทนายโจทก์ก็มิได้แถลงคัดค้านการขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 2แต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาประวิงคดี หากแต่เห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการพิจารณาเพราะส่งหมายเรียกให้แก่พยานไม่ได้ และเป็นการขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 2 ครั้งแรก ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40วรรคแรก คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเฉพาะในประเด็นที่ว่า เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของฝ่ายใด และค่าเสียหายที่ฝ่ายโจทก์ได้รับมีจำนวนเท่าใด