คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1508/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าขาออก ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออกพ.ศ. 2503 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ออกคำรับรองต่อสภาหอการค้าไทยว่าแป้งมันสำปะหลังป่นที่มีผู้ขอให้รับรองมาตรฐานที่จะส่งไปต่างประเทศนั้นได้มาตรฐานชั้นหนึ่งจนสภาหอการค้าไทยได้ออกใบรับรองให้แก่ผู้ขอไป ความจริงแป้งมันสำปะหลังป่นรายนี้ไม่ได้มาตรฐานชั้นหนึ่งดังที่ทางการกำหนดไว้ และผู้ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ผู้มีอำนาจตรวจมาตรฐานสินค้าชั้นหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 รับรองไปเช่นนั้นเป็นการจงใจกระทำการให้การออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออกพ.ศ. 2503 มาตรา 57 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นแต่ผู้สั่งจ่ายงานไม่ได้ความว่ากระทำในฐานะส่วนตัวหรือเป็นผู้จัดการหรือมีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการแทนจำเลยที่ 1 และฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ในการกระทำผิด จึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยและได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓ ให้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าปอฟอก ข้าวโพด เมล็ดละหุ่ง มันสำปะหลังป่น มันสำปะหลังแห้ง ไม้สักแปรรูปและข้าวฟ่าง จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ มีหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกจัดงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอันเป็นธุรกิจของจำเลยที่ ๑ห้างหุ้นส่วนจำกัดฮ่วยเชียงได้ยื่นคำร้องต่อสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นชั้นหนึ่งปริมาณ ๓,๕๔๐ กระสอบซึ่งจะส่งออกจากประเทศไทยไปยังบริษัทคล๊อส เอช ซูแบก เมืองฮัมบรู๊ก ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันโดยระบุว่าต้องการให้บริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ารายนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้บริษัทจำเลยที่ ๑เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ารายนี้ ตามคำร้องขอนั้นจำเลยที่ ๒ ในนามของบริษัทจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัว ได้รับที่จะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้ จำเลยที่ ๑และจำเลยที่ ๒ ในนามจำเลยที่ ๑ และในฐานะส่วนตัว ได้บังอาจร่วมกันแจ้งต่อสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า ผลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นดังกล่าวนั้นมีมาตรฐานเทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งที่สำนักงานมาตรฐานกำหนดไว้ ซึ่งความจริงนั้นจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้โดยวิเคราะห์ทางวิชาตามหน้าที่ให้ครบถ้วนและถูกต้อง และสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้ก็ไม่ได้มาตรฐานชั้นหนึ่งตามที่กระทรวงเศรษฐการกำหนดไว้ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองผู้มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าได้บังอาจร่วมกันจงใจแจ้งความไม่จริงและไม่ถูกต้องว่าผลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้เทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งดังกล่าวแล้วต่อสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกใบรับรองมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นดังกล่าวนั้นผิดไปจากความจริง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหลงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้แล้ว และเชื่อว่ามีมาตรฐานเทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งจริง จึงได้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดฮ่วยเชียงไปอันเป็นการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความจริง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕๗
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕๗ ให้ปรับคนละ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๕๗ และโดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆที่โจทก์กล่าวหาในทางส่วนตัวเลย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดฮ่วยเชียงได้ขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกใบรับรองมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้เพื่อส่งไปประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมัน โดยระบุขอให้บริษัทจำเลยที่ ๑เป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังป่นรายนี้แล้วก็รับรองว่าเทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดฮ่วยเชียงจึงได้นำเอาเอกสารซึ่งมีบันทึกการตรวจสอบของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวไปเสนอต่อสภาหอการค้า ซึ่งเมื่อได้เห็นมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของจำเลยที่ ๑ แล้ว ก็ได้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเห็นมีใบรับรองของสภาหอการค้าแล้วก็อนุญาตให้ส่งออกนอกประเทศไทยได้ ความจริงมันสำปะหลังป่นรายนี้ไม่ได้มาตรฐานชั้นหนึ่งดังที่ทางราชการได้กำหนดไว้ จำเลยที่ ๒ ได้สั่งให้ผู้มีสิทธิตรวจมาตรฐานสินค้าประเภท ก.เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ แต่ก็ปรากฏว่ามิได้เซ็นเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ผู้เซ็นนามในฐานะ “ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า”เป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประเภท ข.
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัทจำเลยที่ ๑ เซ็นในเอกสารรับรองผลการตรวจมันสำปะหลังป่นรายนี้ว่าเทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งนั้นเป็นการผิดความจริงไปสองประการ คือ ผู้ตรวจวิเคราะห์มิใช่ผู้ตรวจสอบมาตรฐานประเภท ก. ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง คือมันสำปะหลังป่นรายนี้มีมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานชั้นหนึ่งด้วยและเพราะบริษัทจำเลยที่ ๑ เซ็นรับรองไปเช่นนั้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจึงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าว่ามันสำปะหลังป่นรายนี้เป็นชั้นหนึ่ง ซึ่งหาได้ตรงกับความเป็นจริงไม่
มาตรา ๕๗ บัญญัติว่า “ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผู้ใดจงใจกระทำการใด ๆ ให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริงหรือแกล้งหน่วงเหนี่ยวให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกิดความล่าช้าหรือเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ตามมาตรา ๕๗ นี้ ศาลฎีกาเห็นว่าได้ระบุความผิดไว้หลายอย่างแต่มีอย่างหนึ่ง คือ ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจงใจกระทำการใด ๆ ให้การออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริงก็เป็นความผิดด้วย
ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้สั่งให้จำเลยที่ ๑ ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามมาตรา ๕๗ จำเลยที่ ๒ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของตนตรวจสอบมาตรฐานสินค้า แต่ผู้ที่เซ็นรับรองว่าเป็นสินค้าที่เทียบได้มาตรฐานชั้นหนึ่งก็มิใช่ผู้มีอำนาจตรวจมาตรฐานชั้นหนึ่ง แต่เป็นผู้ตรวจมาตรฐานสินค้าประเภท ข.และก็ปรากฏว่า มาตรฐานสินค้ารายนี้ต่ำกว่ามาตรฐานสินค้าชั้นหนึ่งเช่นนี้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการจงใจกระทำการให้การออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง เพราะทำให้สภาหอการค้าออกใบรับรองว่ามีมาตรฐานสินค้าชั้นหนึ่งซึ่งผิดความจริง การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นผิดตามมาตรา ๕๗ ดังกล่าวข้างต้น
สำหรับจำเลยที่ ๒ ซึ่งโจทก์ฟ้องไว้ ๒ ฐานะนั้น การนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำไปในฐานะส่วนตัวแต่ประการใดเลย และไม่ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการหรือมีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใดเลย จำเลยที่ ๒เซ็นชื่อเพียงในฐานะผู้จ่ายงาน แต่การเซ็นรับรองการตรวจว่าเทียบได้กับมาตรฐานชั้นหนึ่งนั้น ก็หาใช่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เซ็นไม่ และการนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำผิดตามฟ้องด้วย จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๕๗ ดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๒ นั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ ๑มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๕๗ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ถ้าไม่เสียเงินค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙นอกจากที่แก้นี้แล้ว ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share