คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ประกอบพิธีสมรสโดยมิได้ มีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย เงินที่โจทก์อ้างว่าได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิงจึงหาได้ให้ฐานะเป็นของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายไม่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนของหมั้นและให้ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาหมั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยคืนเงินหมั้นและสินสอดรวมเป็นเงิน 18,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เพียงว่า จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นอันต้องรับผิดคืนเงินหมั้นและสินสอดแก่โจทก์หรือไม่ เกี่ยวกับคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ได้หมั้นกับจำเลยที่ 1 โดยมอบเงินจำนวน 1,000 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลยเป็นของหมั้น หลังจากหมั้นแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานกันตามประเพณีและได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาที่บ้านของจำเลยที่ 2ที่ 3 แล้วเกิดทะเลาะกัน โจทก์ได้หนีออกจากบ้านไป ต่อมาวันที่23 เมษายน 2527 โจทก์และจำเลยทั้งสามได้ไปที่ว่าการอำเภอศรีเทพโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับตน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมซึ่งระยะเวลาจากวันแต่งงานจนถึงวันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสนาน 1 เดือนเศษ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายเลยว่า หลังจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีสมรสกันตามประเพณีแล้ว โจทก์ได้เคยขอให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ให้ความยินยอมเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กลับได้ความจากคำนายเบิ้ม ศรีอำไพ พยานของโจทก์เองซึ่งเป็นพี่เขยโจทก์ว่านายเบิ้มเป็นคนแนะนำให้โจทก์พาจำเลยทั้งสามไปอำเภอเพื่อทำการจดทะเบียนสมรส คำแนะนำของนายเบิ้มนี้เป็นเวลาหลังจากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แต่งงานและอยู่กินด้วยกันแล้วเป็นเวลานานถึง1 เดือนเศษ ซึ่งแสดงว่าการแต่งงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นี้มิได้คำนึงถึงเรื่องการจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์อยู่กินกับจำเลยที่ 1 ต่อมาได้เกิดผิดใจกันจนโจทก์ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นพฤติการณ์ของโจทก์เช่นนี้ เห็นว่าโจทก์ไม่นำพาต่อการที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เหตุที่โจทก์เพิ่งมาขอให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสด้วยก็โดยคำแนะนำของนายเบิ้ม เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1เพียงแต่ประกอบพิธีสมรสโดยมิได้มีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมายเงินที่โจทก์อ้างว่าได้มอบให้แก่ฝ่ายหญิง จึงหาได้ให้ในฐานะเป็นของหมั้นและสินสอดตามกฎหมายไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดคืนเงินหมั้นและสินสอดแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share