คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 35 ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศเสียได้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่งบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น มิได้รวมถึงกรณีที่อนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะต้องทำคำชี้ขาดภายใน 180 วัน นับแต่วันตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย
ภาระการพิสูจน์ว่าคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถหรือไม่ และผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จะถูกบังคับได้ทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณา หรือไม่สามารถเข้าต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการเพราะเหตุประการอื่นหรือไม่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 34 (1) และ (3) ตามลำดับ กำหนดให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิสูจน์ไม่ใช่ผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 4,999,384.38 ดอลลาร์สหรัฐ และ 363,367,000 ลีร์อิตาลี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวทั้งสองจำนวน นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และให้ผู้คัดค้านส่งมอบหนังสือค้ำประกันธนาคารเลขที่ 80190/608 วงเงิน 897,700 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ร้องมอบให้ผู้คัดค้านไว้คืนให้แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 4,999,384.38 ดอลลาร์สหรัฐ และ 363,367,000 ลีร์อิตาลี พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวทั้งสองจำนวนนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง โดยดอกเบี้ยคำนวณนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2542 จนถึงวันยื่นคำร้อง (วันที่ 13 กันยายน 2543) ไม่เกิน 124,984.61 ดอลลาร์สหรัฐ และ 9,084,175 ลีร์อิตาลี และให้ผู้คัดค้านส่งมอบหนังสือค้ำประกันธนาคารเลขที่ 80190/608 วงเงิน 897,700 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ร้องมอบให้ผู้คัดค้านไว้คืนให้แก่ผู้ร้อง กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศอิตาลี ประกอบธุรกิจค้าขายเครื่องจักร มีนายมาร์โค ปีรีซี่ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับซื้อและจำหน่ายสินค้าจำพวกเหล็กเส้น เหล็กแผ่น เศษเหล็ก และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็กทั้งภายในและต่างประเทศ และอื่น ๆ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ร.9 ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ตามเอกสารหมาย ร.6 โดยประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส ต่างก็เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.7 เมื่อปี 2537 และ 2538 ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายเครื่องจักรกับผู้คัดค้านรวม 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ร.14 และ ร.15 โดยผู้ร้องตกลงจัดหาเครื่องจักรให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อให้ผู้คัดค้านนำมาติดตั้งในโรงงานผลิตเหล็กเส้นแห่งใหม่ของผู้คัดค้านในประเทศไทย ซึ่งผู้ร้องให้จัดหาเครื่องจักรไปติดตั้งในโรงงานของผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านได้ชำระเงินบางส่วนให้แก่ผู้ร้องแล้ว ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงยื่นฟ้องผู้ร้องเป็นคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องได้ให้การพร้อมกับฟ้องแย้งและยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งไม่รับฟ้องของผู้คัดค้านกับไม่รับฟ้องแย้งของผู้ร้อง และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4372/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ เอกสารหมาย ร.1 ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส เป็นผู้ชี้ขาด ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้อง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส เอกสารหมาย ร.10 ซึ่งทำเกิน 180 วัน นับแต่วันตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มีผลผูกพันคู่กรณีนี้ด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ คำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและขัดต่อกฎหมายหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำสัญญากัน มาตรา 21 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการในประเทศ แต่คดีนี้เป็นเรื่องการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 หมวด 6 ซึ่งมีบทบัญญัติมาตรา 34 บัญญัติว่า “การขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือ และการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ.1958) นั้น ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธเสียได้ ถ้าผู้ซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่า
(1) คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
(2) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายแห่งประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้นในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว
(3) ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ซึ่งจะถูกบังคับนั้นไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการเพราะเหตุประการอื่น
(4) คำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจบังคับตามคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยอยู่ในขอบเขตแห่งข้อตกลงนั้นให้ก็ได้
(5) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดหรือวิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ หรือมิได้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดในกรณีที่มิได้ตกลงกันไว้ หรือ
(6) คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติหรือได้ถูกเพิกถอนหรือระงับใช้เสียแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด แต่ถ้าเพียงแต่มีการยื่นเรื่องราวขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำการเพิกถอน หรือระงับใช้ซึ่งคำชี้ขาดนั้นศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีขอบังคับตามคำชี้ขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร และหากคู่ความฝ่ายที่ขอบังคับตามคำชี้ขาดร้องขอ ศาลอาจสั่งให้คู่ความฝ่ายที่จะถูกบังคับหาประกันที่เหมาะสมก่อนก็ได้”
และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ศลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 34 ได้ ถ้าปรากฏต่อศาลว่าคำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยทางอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายไทย หรือถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ”
เห็นได้ว่า ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิใช่กรณีที่อนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะต้องทำคำชี้ขาดภายใน 180 วัน นับแต่วันตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้ายดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การแปลสัญญาจัดหาเครื่องจักรโรงงานรีดเหล็ก ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2537 เอกสารหมาย ร.14 และสัญญาจัดหาอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรรีดเหล็ก ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2538 เอกสารหมาย ร.15 ชอบหรือไม่ ปัญหานี้ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า นางสาววารี ชินสิริกุล เป็นผู้แปลสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ปรากฏว่านายสมชาย มานิตายง เป็นผู้รับรองจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 31 (3) กำหนดให้ผู้ขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศจะต้องมีคำแปลซึ่งเป็นภาษาไทยของคำชี้ขาดและสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้น โดยมีผู้แปลซึ่งได้สาบานตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศตัวแทนการทูตหรือกงสุลไทยเป็นผู้รับรองมาแสดงด้วยนั้น ก็โดยมีความมุ่งหมายให้เอกสารซึ่งเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศและสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำที่ต่างประเทศเป็นที่น่าเชื่อถือและรับฟังได้ โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องดำเนินการแต่เพียงเท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น หากเอกสารดังกล่าวได้มีการแปลและผู้แปลได้สาบานตัวต่อหน้าศาลในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว ศาลก็มีอำนาจรับฟังเอกสารเหล่านั้นได้ คดีนี้แม้จะมีนางสาววารี ชินสิริกุล เป็นผู้แปลเอกสารหมาย ร.14 และ ร.15 แต่ก็ได้ความว่ามีนายสมชาย มานิตายง เป็นล่ามในการแปลเอกสารดังกล่าว โดยนายสมชายเบิกความในฐานะเป็นล่ามได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วรับว่าเป็นคำแปลที่ถูกต้อง ถือได้ว่าในระหว่างที่นายสมชายทำหน้าที่เป็นล่าม นายสมชายเป็นผู้แปลเอกสารหมาย ร.14 และ ร.15 และได้รับรองเอกสารดังกล่าวด้วย ทั้งก่อนที่นายสมชายจะเบิกความก็ได้สาบานต่อหน้าศาลแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าการดำเนินการดังกล่าวของผู้ร้องมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้ร้องสามารถร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปในเรื่องผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องโดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าผู้ร้องซึ่งมีภาระการพิสูจน์ แต่นำสืบไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นสมาชิกประเภทใดขององค์การสหประชาชาติและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอิตาลีนั้น เห็นว่า ภาระการพิสูจน์ว่าคู่สัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 34 (1) กำหนดให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิสูจน์ ภาระการพิสูจน์ในรื่องนี้จึงหาเป็นภาระของผู้ร้องไม่ อีกทั้งได้ความตามทางพิจารณาว่าผู้ร้องมีนายกรเกียรติ ชุณหสิการ เป็นพยานกับนางอลิซาเบธ เดล คาร์โล เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเป็นพยานเบิกความว่าประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศฝรั่งเศส เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ค ตามเอกสารหมาย ร.6 และ ร.7 ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศอิตาลี ประกอบธุรกิจค้าขายเครื่องจักร มีนายมาร์โค ปีรีซี่ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนในการยื่นคำร้องคดีนี้ ตามเอกสารพร้อมคำแปลหมาย ร.11 ถึง ร.13 เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานบุคคลเบิกความประกอบเอกสารโดยเฉพาะเอกสารหมาย ร.11 ถึง ร.13 มีโนตารีปับลิกและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี รับรอง ผู้คัดค้านเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศอิตาลี โดยมีนายมาร์โค ปีรีซี่ เป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องกระทำการแทนผู้ร้องในคดีนี้ ซึ่งประเทศไทยและประเทศอิตาลีเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต่างประเทศเพียงฝ่ายเดียว โดยผู้คัดค้านไม่ได้เข้าต่อสู้คดีและไม่ได้เข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการพิจารณาว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จะถูกบังคับได้ทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาหรือไม่สามารถเข้าต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการเพราะเหตุประการอื่น ผู้คัดค้านเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตามบทบัญญัติในมาตรา 34 (3) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่ผู้คัดค้านหาได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ แต่กลับได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้อง โดยนายอเนก ศรีสนิท อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน เป็นพยานผู้ร้องเบิกความเป็นใจความว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส นั้น ถูกต้องและครบถ้วนตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสมาคมแล้ว ทั้งนายชาญชัย แพรวพรายกุล กรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านก็เบิกความเจือสมคำพยานของผู้ร้องว่านายชาญชัยได้ทราบเรื่องที่ผู้ร้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว แต่ทางผู้คัดค้านไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายสูง โดยนายชาญชัยคิดว่าเป็นจำนวนมากกว่า 10,000,000 บาท เห็นได้ว่า การที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต่างประเทศจนกระทั่งอนุญาโตตุลาการต่างประเทศมีคำชี้ขาดแล้วนั้นได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการต่างประเทศสั่งให้ผู้คัดค้านขาดนัดและตั้งนายอเนกซึ่งไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับผู้คัดค้านมาก่อนเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านทำให้นายอเนกไม่ทราบข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านได้ทราบการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่มิได้เข้าต่อสู้คดี ที่อนุญาโตตุลาการต่างประเทศสั่งให้ผู้คัดค้านขาดนัดและดำเนินกระบวนพิจารณาไปจึงชอบแล้ว ส่วนการตั้งนายอเนกเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น การตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมพิจารณาจากคุณสมบัติของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ หาใช่ต้องเลือกจากฝ่ายของคู่สัญญาไม่ ส่วนข้อเท็จจริงในคดีจะมีอย่างไรก็เป็นเรื่องคู่สัญญาซึ่งเป็นคู่กรณีจะต้องนำสืบให้ปรากฏ หาใช่เป็นข้อที่อนุญาโตตุลาการจะต้องรับทราบมาก่อนไม่ เมื่อผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่านายอเนกมีคุณสมบัติบกพร่องอย่างไร การตั้งนายเอนกเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว
ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านไม่เคยรู้จักคนชื่อประยงค์ผู้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในวันที่ 23 กันยายน 2542 ตามเอกสารหมาย ร.19 พร้อมคำแปล จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันมีผลทำให้คำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องขาดอายุความเนื่องจากมิได้กระทำภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น นางอลิซาเบธ เดล คาร์โล พยานผู้ร้องส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2542 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทส่งไปยังสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีสและสมาคมหอการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดส่งต้นฉบับคำชี้ขาดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านคนละฉบับตามเอกสารหมาย จ.11 จ.17 ถึง จ.19 ในข้อนี้นายชาญชัยพยานผู้คัดค้านเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องว่าพยานเคยได้รับคำชี้ขาดตามเอกสารหมาย ร.10 แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเมื่อใด ดังนั้น เมื่อพิจารณาวันที่อนุญาโตตุลาการลงลายมือชื่อในคำชี้ขาดเอกสารหมาย ร.10 คือวันที่ 13 กันยายน 2542 แสดงว่าผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหลังวันดังกล่าว คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 13 กันยายน 2543 จึงไม่เกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้คัดค้าน อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้คัดค้านค้างชำระเงินตามสัญญาแก่ผู้ร้องเพียงใด ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านค้างชำระเงินตามสัญญาแก่ผู้ร้องอยู่ร้อยละ 10 ของราคาจ้างตามสัญญาซึ่งอยู่ในรูปของหนังสือค้ำประกันธนาคาร ที่มีเงื่อนไขว่าผู้คัดค้านจะชำระเงินเมื่อมีการติดตั้งเครื่องจักรเรียบร้อยและสามารถเดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังการผลิต แต่ผู้ร้องไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้ ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะไม่คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ร้องนั้น ข้อเท็จจริงจากสำนวนได้ความว่า ก่อนอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในปี 2542 ผู้คัดค้านอ้างว่าได้ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามเลตเตอร์ออฟเครดิตรวม 9 ฉบับ แต่ผู้ร้องอ้างว่าไม่อาจรับเงินจำนวนดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงนำคดีไปฟ้องที่ศาลในประเทศอิตาลี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล เห็นว่า ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำเสนอในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ จะยกขึ้นอ้างในชั้นศาลหาได้ไม่ เนื่องจากกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 34 และ 35 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 เมื่อผู้คัดค้านอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องไปก่อนที่อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาด ผู้คัดค้านควรต้องแสดงหลักฐานการชำระหนี้ต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กล่าวอ้าง แต่ผู้คัดค้านก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ เมื่อผู้คัดค้านไม่อาจพิสูจน์ว่ามีเหตุที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เช่นนี้ จึงต้องถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันเป็นยุติแล้ว ศาลไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อสุดท้ายว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีการขอค่าทนายความในคำขอท้ายคำร้องมาด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) กำหนดให้คำพิพากษาต้องกล่าวถึงค่าฤชาธรรมเนียมด้วยโดยที่คู่ความไม่จำต้องมีคำขอ ค่าทนายความเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามความยากง่ายแห่งคดี ความสุจริตในการต่อสู้คดี กับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติ ทั้งนี้ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์มากกว่า 200,000,000 บาท ทนายผู้ร้องต้องสืบพยานหลายปากและมีเอกสารเป็นจำนวนมาก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าทนายความตามจำนวนดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 40,000 บาท แทนผู้ร้อง

Share