คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้พันตำรวจตรี อ. อำพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงรายไปส่งให้จำเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปจนกระทั่งสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางและสถานีตำรวจภูธรวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย จึงมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดหลายคนเกี่ยวพันกัน ความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 5, 6, 8, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละตลอดชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ได้อีก ให้ยกคำขอส่วนนี้ ยกฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้พร้อมของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 3,000,000 เม็ด บรรจุอยู่ในกระสอบปุ๋ย จำนวน 10 กระสอบ น้ำหนักสุทธิ 298,700.519 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 61,320.441 กรัม ในขณะจำเลยที่ 1 ลงมาช่วยจำเลยที่ 2 ขนกระสอบปุ๋ยดังกล่าวลงจากรถบรรทุกสิบล้อนำไปเก็บไว้ที่รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นเซฟิโร่ โดยมีจำเลยที่ 3 ซึ่งมาด้วยกัน อยู่ใกล้เคียงในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในเวลาต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจชุดเดียวกันจับกุมจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ในบริเวณเดียวกัน พร้อมของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีน จำนวน 600,000 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 57,131.495 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11,532.159 กรัม จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพว่า มีเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พันตำรวจตรีอนุพันธ์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานได้อำพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงราย ไปส่งให้จำเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาถึงสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาพูดกับพันตำรวจตรีอนุพันธ์ว่ามารับข้าว 10 กระสอบ ซึ่งหมายถึงมารับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นเซฟิโร่ มาขนกระสอบที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนจากรถบรรทุกสิบล้อไปเก็บไว้ที่บริเวณเบาะหลัง จำนวน 3 กระสอบ เก็บที่กระโปรงท้ายอีก 2 กระสอบ โดยมีจำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตมาด้วยกัน ลงจากรถมาเดินอยู่บริเวณใกล้เคียง ต่อมาพันตำรวจตรีอนุพันธ์ได้ส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 20 คน ที่ได้ล้อมบริเวณที่เกิดเหตุอยู่เข้ามาจับกุมจำเลยทั้งสาม ได้ความดังนี้ จึงเห็นว่า พันตำรวจตรีอนุพันธ์เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 รวมทั้งเป็นผู้จับกุมด้วยตนเองในบริเวณที่เกิดเหตุ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างว่า ไม่ทราบว่าในกระสอบปุ๋ยมีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่นั้น มีน้ำหนักให้รับฟังน้อยมาก เพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั่งรออยู่ด้วยกันในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่อำเภอวังน้อย มาก่อน ตั้งแต่เวลา 19 นาฬิกา จนถึงเวลา 1 นาฬิกาของวันใหม่ แล้วจำเลยที่ 3 จึงขับรถยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปที่สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ โดยมีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์อีกคันหนึ่งตามไปด้วย พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นัดหมายมาพบกัน รออยู่ด้วยกันถึง 6 ชั่วโมงแล้วพากันเดินทางไปรับของด้วยกันที่สถานีบริการน้ำมันอีกแห่งหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มารับเมทแอมเฟตามีนด้วยกัน ที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่นำรถยนต์มาให้จำเลยที่ 2 ยืมใช้และติดต่อซื้อขายพระเครื่องกันเท่านั้น และที่อ้างความบริสุทธิ์ใจจึงนำรถเก๋งมาให้จำเลยที่ 2 ยืม โดยอ้างว่าถ้ารู้เห็นในการกระทำผิดจริงก็ต้องนำรถกระบะมาบรรทุกกระสอบใส่เมทแอมเฟตามีนแล้วนั้น ก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจได้โดยเด็ดขาดเนื่องจากรถเก๋งสามารถอำพรางกระสอบได้ดีกว่า และรอดพ้นจากการตรวจค้นของด่านเจ้าพนักงานตำรวจได้ดีกว่ารถกระบะเช่นกัน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่าไม่รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 2 หากจะให้รับฟังก็ขัดต่อสามัญสำนึก เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า การจับกุมจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ เกิดขึ้นโดยบังเอิญที่คนขับรถบรรทุกรับจ้างสงสัยในการว่าจ้างจึงไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้วนำไปสู่การขยายผลจับกุมจำเลยทั้งห้า มิใช่เกิดจากการสืบสวนของพันตำรวจตรีพีรพจน์กับพันตำรวจตรีอนุพันธ์ และคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสองนี้ขัดกับบันทึกการตรวจยึด นั้น พยานโจทก์ทั้งสองก็ยืนยันแล้วว่าความจริงเป็นไปตามที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความตอบโจทก์ มิได้เป็นไปตามที่บันทึกไว้ และศาลฎีกาเห็นว่า ความแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญที่จะนำมาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดในคดีนี้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายก่อนที่พวกจำเลยทั้งหมดจะมารับเมทแอมเฟตามีนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คนขับรถบรรทุกจะพบยาเสพติดโดยบังเอิญ หรือเป็นผลงานของพันตำรวจตรีพีรพจน์กับพันตำรวจตรีอนุพันธ์ที่ทำการสืบสวนหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจะนำไปส่งให้แก่ผู้ใด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่อ้างว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 3 ในศาลชั้นต้น เนื่องจากมูลเหตุในคดีนี้เกิดในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นท้องที่พบการกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน จึงมีการขยายผลสืบสวนและมีการวางแผนให้พันตำรวจตรีอนุพันธ์อำพรางตัวเป็นเด็กท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่ขนกระสอบข้าวและกระสอบปุ๋ยบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจังหวัดเชียงรายไปส่งให้จำเลยที่ 2 ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับว่าจะมารับเมทแอมเฟตามีน เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปจนกระทั่งสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายซึ่งเป็นท้องที่ที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางและสถานีตำรวจภูธรวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเชียงราย จึงมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การสอบสวนย่อมเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดหลายคนเกี่ยวพันกัน ความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่รับฟ้องความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน ย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share