คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละคนไม่เกินสองหมื่นบาท จึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ และเมื่อเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายประสิทธิ์ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ของจำเลยในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนกับรถยนต์ของทางราชการทหาร เป็นเหตุให้บุตรโจทก์บางคนภริยาโจทก์บางคน และมารดาโจทก์บางคนได้รับอันตรายถึงแก่ความตาย และทำให้โจทก์บางคนได้รับอันตรายสาหัส ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาเฉพาะฎีกาของโจทก์ที่ 1ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เห็นว่า คดีนี้โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันโดยปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละคนเป็นเงิน 20,000 บาท, 20,000 บาท, 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมีจำนวนไม่เกินสองหมื่นบาท โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จึงอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 3 อุทธรณ์ของโจทก์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ และเมื่อเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนโจทก์ที่ 6 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 34,000 บาท ค่าเสียหายที่เรียกร้องมีจำนวนไม่เกินห้าหมื่นบาทโจทก์ที่ 6 จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8

พิพากษายกฎีกา

Share