คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15031/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติซึ่งต้องมีการปฏิบัติงานภายในห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลย การที่โจทก์ใช้กุญแจอาคารเปิดเข้าห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยเพื่อปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้น หน้าที่ของโจทก์นอกจากดำเนินการปลดธงลงแล้วโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานที่ที่โจทก์เข้าไปดำเนินงานด้วย เมื่อสถานที่ดังกล่าวเป็นห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าภายในห้องดังกล่าวอาจมีทรัพย์สินมีค่า หรือเอกสารสำคัญ โจทก์ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่สถานที่นั้นเป็นอย่างดี เมื่อโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลทำให้พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งมีมูลค่าถึง 75,000 บาท ที่อยู่ในห้องดังกล่าวสูญหายไป จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างก่อนครบระยะเวลาตามสัญญาจ้างแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 21,017 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโจทก์ก่อนกำหนดระยะเวลา 22,278 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง และค่าชดเชย 37,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน ตำแหน่งพนักงานบำรุงรักษาอาคาร (Technician O & M) ส่วนงานบริหารและบำรุงรักษาระบบของอาคารตามสัญญาจ้าง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,610 บาท มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 28 ของเดือน โจทก์มีหน้าที่ตามเอกสารกำหนดหน้าที่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551 นางนฤมล ผู้จัดการอาคาร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์มีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานเก็บธงชาติและธงตราสัญลักษณ์ซึ่งติดไว้บริเวณหน้าอาคารของจำเลย พร้อมขอให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมาช่วยงานโจทก์ปรากฏตามสำเนาจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และภาพถ่ายอาคาร หลังจากโจทก์เข้าทำงานตามคำสั่งนางนฤมลแล้ว พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งตั้งอยู่ในห้องของประธานกรรมการบริหารของจำเลยสูญหายไป จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลโคกคราม จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องไว้ คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าโจทก์กระทำความผิด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2551 แล้ววินิจฉัยว่า แม้ตามคำสั่งให้ปฏิบัติงานจะปรากฏเพียงว่าจำเลยสั่งให้โจทก์จัดเก็บธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติโดยมิได้มีข้อความชัดแจ้งว่าได้มอบหมายให้โจทก์ดูแลรักษาความปลอดภัยของสถานที่ในวันเกิดเหตุ และตามเอกสารกำหนดหน้าที่ก็มิได้ปรากฏหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยด้วยก็ตาม แต่เมื่อกุญแจอาคารของจำเลยที่อยู่ภายใต้การดูแลของช่างซ่อมบำรุงอาคารเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นบุคคลที่อยู่ในวิสัยที่ต้องรับผิดชอบดูแลกุญแจอาคารดังกล่าว จึงต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาความเรียบร้อยของสถานที่ การที่โจทก์ใช้กุญแจอาคารเปิดเข้าห้องที่พิพาทเพื่อไปปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติตามคำสั่ง จึงก่อให้เกิดภาระแก่โจทก์ในการดูแลความเรียบร้อยและป้องกันทรัพย์สินของห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยแล้ว เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว ของจำเลยได้สูญหายไปจากห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลย จึงเป็นความประมาทของโจทก์ที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันควร พระทองคำดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 75,000 บาท การกระทำโดยประมาทของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย ตลอดจนเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยชอบที่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์อีก โจทก์อุทธรณ์ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรตินั้น โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเอาใจใส่ในงานดังกล่าว และปิดล็อกประตูห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยแล้ว และพระทองคำอาจสูญหายไปก่อนหน้าวันที่โจทก์ปฏิบัติงานก็เป็นไปได้ ทั้งกุญแจที่เข้าห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยก็มีอยู่ประมาณ 3 ถึง 4 ชุด ในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โจทก์ต้องช่วยเหลือและทำงานร่วมกับบุคคลอื่นไม่อาจอยู่ประจำเพื่อเฝ้ารักษาทรัพย์สินได้ โจทก์จึงใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว นั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว สูญหายไปในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 หลังจากโจทก์ดำเนินการปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางและในบางส่วนเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้าง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการปลดธงชาติและธงเฉลิมพระเกียรติซึ่งต้องมีการปฏิบัติงานภายในห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยนั้น หน้าที่ของโจทก์นอกจากดำเนินการปลดธงลงแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อยและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานที่ที่โจทก์เข้าไปดำเนินงานด้วย เมื่อสถานที่ที่โจทก์เข้าไปดำเนินงานปลดธงเป็นห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าภายในห้องดังกล่าวอาจมีทรัพย์สินมีค่า หรือเอกสารสำคัญจำนวนมากเก็บอยู่ โจทก์ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่สถานที่นั้นเป็นอย่างดี เมื่อโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจตราดูแลห้องประธานกรรมการบริหารของจำเลยจนกระทั่งส่งผลให้พระทองคำ ฮก ลก ซิ่ว ในห้องดังกล่าวสูญหายไปหลังจากที่โจทก์เข้าไปดำเนินการปลดธงในห้องนั้น โจทก์จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ที่โจทก์จะต้องมีตามสมควร เมื่อทรัพย์สินที่สูญหายเป็นพระทองคำฮก ลก ซิ่ว ซึ่งมีมูลค่าถึง 75,000 บาท การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share