คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ที่กู้เงินจากโจทก์ เมื่อการค้ำประกันหนี้เป็นกิจการที่จำเลยที่ 2 อาจได้รับอนุญาตให้กระทำได้ และอยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ด้วย ฉะนั้น หากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้ด้วยว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ก็จะถือว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมายไม่ได้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้
(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาค้างชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวดโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและแจ้งบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน ๓๘๔,๒๕๔.๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๒๖,๔๒๓.๕๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ หากขายทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ไม่มีอำนาจที่จะทำกิจการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕๔ (๔) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเครดิตฟองซิเอร์กิจการรับซื้อฝากและกิจการให้เช่าซื้อเท่านั้น หากจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันดังโจทก์ฟ้องนิติกรรมย่อมขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้งและตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ ๑ ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อเดียวว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.ล.๑ มีผลใช้บังคับหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยว่ามีผลใช้บังคับได้ ก็ให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง หากสัญญาไม่มีผลบังคับ ก็ให้ศาลพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์และจำเลยที่ ๒ไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.ล.๑ มีผลบังคับได้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๓๘๔,๒๕๔.๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๓๒๖,๔๒๓.๕๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ในการบังคับคดีจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๗
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.ล.๑ ได้กระทำขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๕๔ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กระทำการดังต่อไปนี้
(๑) …………………………………………………………………………………………………………………………..
(๔) ประกอบกิจการอื่นใดนอกจากธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ในประเภทที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี…..” และจำเลยที่ ๒ เป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กิจการรับซื้อฝากและกิจการใช้เช่าซื้อเท่านั้นการที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นการประกอบกิจการอื่นนอกจากธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ในประเภทที่ได้รับอนุญาต แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าการค้ำประกันดังกล่าว มิใช่เป็นกิจการที่กฎหมายห้ามเด็ดขาดเพราะจำเลยที่ ๒ อาจได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้กระทำได้ ทั้งยังเป็นกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ตามหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ด้วย ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมรู้ด้วยว่าจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก็จะถือว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมายไม่ได้ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.ล.๑ จึงมีผลใช้บังคับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share