แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีแพ่งหรือคดีอาญาเมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะฎีกาคัดค้านว่าไม่ควรรับนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามตาม ป.ม.วิอาญา ม.196 ประกอบด้วย ม.215 และในคดีแพ่งคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้รับอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.ม.วิ.แพ่ง ม.236
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุกตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๓๒๔,๓๒๗ และเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งเป็นเงิน ๘๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยคนละ ๑๐๐ บาทตามมาตรา ๓๒๔,๕๙ และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะในทางแพ่ง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยอุทธรณ์เกิน ๑๕ วัน ขาดอายุอุทธรณ์แล้วจึงสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยอุทธรณ์เฉพาะทางแพ่งภายใน ๑ เดือนจึงยังไม่ขาดอายุความอุทธรณ์ จึงให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา
โจทก์ฎีกาขอให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่าในคดีแพ่งหรือคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของคู่ความฝ่ายหนึ่งแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะฎีกาคัดค้านว่าไม่ควรรับนั้นหาได้ไม่ เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.อาญา ม.๑๙๖ ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๕ นอกจากนี้อุทธรณ์ของจำเลยในทางแพ่ง เมื่อคำสั่งศาลอุทธรณ์สั่งรับไว้แล้ว ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.ม.วิ.แพ่ง ม.๒๓๖
จึงให้ยกฎีกาโจทก์เสีย