คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14948/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เจาะรูทำรอยแผลในตำแหน่งเป็นเกลียวเวียนขึ้นไปตามลำต้นกฤษณาแล้วเสียบท่อเข้าไปในรูโดยให้ปลายท่อยาวโผล่พ้นลำต้น ซึ่งแตกต่างกับการทำรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวแล้วเจาะรูตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ และไม่เป็นการลัดขั้นตอนกรรมวิธีของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ใช้กรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาแตกต่างจากกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิดังกล่าว ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 134,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระค่าสูญเสียโอกาสเป็นรายวัน จำนวนวันละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกระงับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ และห้ามมิให้กระทำการละเมิดต่อไป ริบและทำลายบรรดาผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์และบรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งหกไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทน นายโรเบิร์ตและนายเฮนรี่เป็นผู้ประดิษฐ์ อะการ์วูดหรือเครื่องหอมจากการเพาะเลี้ยง (Cultivated Agarwood อะการ์วูดเป็นเครื่องหอมที่มีราคาสูงซึ่งหาได้ยากมาก) และยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวต่อสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 และได้รับสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,848,211 บี2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาได้โอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวให้แก่ รีเจนต์ส ออฟ ดิ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มินนีโซตา (Regents of the University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมารีเจนต์ส ออฟ ดิ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มินนีโซตา ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์อะการ์วูดหรือเครื่องหอมจากการเพาะเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ตามสำเนาคำขอรับสิทธิบัตรและการประดิษฐ์เลขที่ 068988 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 นายพีระพันธุ์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร “Aquilaria resin” โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณา “Aquilaria” และได้รับสิทธิบัตรไทยเลขที่ 18985 ต่อมานายพีระพันธุ์โอนสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ นายพีระพันธุ์ได้รับสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารเรซินโดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 7,485,309 บี1 จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินในตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีต้นกฤษณาปลูกอยู่แล้วและใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยและสาธิตโดยนายโรเบิร์ตและนายโจเอลแห่งมหาวิทยาลัยมินนีโซตา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร “Aquilaria resin” โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีเลขที่ 18985 ของโจทก์ที่ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 และออกให้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 อันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า นายโรเบิร์ตใช้สว่านเจาะลำต้นของต้นกฤษณาให้เกิดรอยแผลเพื่อกระตุ้นให้ต้นกฤษณาหลั่งสารเรซินออกมามากกว่าธรรมชาติเพื่อรักษาบาดแผล เป็นผลให้ได้ผลิตภัณฑ์เป็นสาร “Aquilaria resin” จึงเป็นการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของโจทก์ แม้กรรมวิธีของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้เริ่มด้วยการเอาเปลือกนอกและเนื้อเยื่อออก แต่การใช้วิธีเจาะผ่านเปลือกและเนื้อเยื่อเข้าไปในต้นเป็นการลัดขั้นตอนกรรมวิธีของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ทำแผ่นพับโฆษณาซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 จะนำเทคโนโลยีมาตรฐานมาช่วยเร่งการสร้างสารกฤษณาในเนื้อไม้ จากการร่วมวิจัยกับศาสตราจารย์ โรเบิร์ตและนายโจเอล ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมินนีโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในพื้นที่ปลูกของจังหวัดปราจีนบุรี จนเป็นที่ยอมรับ เมื่อตรวจสอบแปลงสาธิตของจำเลยที่ 1 ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี พบลักษณะการเจาะรูและขั้นตอนการชักนำสารหอมระเหยในต้นกฤษณาเหมือนกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรเลขที่ 18985 ของโจทก์ในสาระสำคัญ แต่ลักษณะการเจาะรูต้นกฤษณาเป็นแนวเวียนขึ้นไปตามลำต้น แล้วเสียบท่อเข้าไปในรูโดยให้ปลายท่อยาวโผล่พ้นลำต้นเหมือนกับรูปประกอบในสำเนาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องหอมจากการเพาะเลี้ยง (Cultivated Agarwood) ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,848,211 บี2 ที่ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 และออกให้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โดยจำเลยทั้งหกนำสืบว่า กรรมวิธีดังกล่าวเป็นกรรมวิธีตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 6,848,211 บี2 ของรีเจนต์ส ออฟ ดิยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ มินนีโซตา ซึ่งนำมาขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ตามสำเนาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 068988 และตามสำเนาคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นการประดิษฐ์อะการ์วูดหรือเครื่องหอมจากการเพาะเลี้ยงโดยมีข้อถือสิทธิโดยสรุปคือ การทำให้เกิดรอยแผลที่ทำขึ้นเข้าไปในไซเลมในต้น “Aquilaria” หรือต้น “Gonystylus” โดยการตัด การเจาะ การสับ หรือโดยการสอดตะปู ชุดของรอยแผลได้รับการจัดตำแหน่งในแบบเกลียวขึ้นไปตามต้นไม้และจัดเตรียมวิถีทางสำหรับการเติมอากาศสู่รอยแผลโดยการใช้อุปกรณ์เติมอากาศสอดเข้าไปในรอยแผลและให้ยื่นออกมาจากด้านนอกของต้นไม้ แล้วใส่ตัวกระทำเหนี่ยวนำให้เกิดยางไม้สู่เซลล์ที่ล้อมรอบรอยแผล ตัวกระทำเหนี่ยวนำให้เกิดยางไม้คือ ตัวกระทำเชิงเคมีหรือสิ่งมีชีวิตซึ่งจะกระตุ้นการผลิตยางไม้อะการ์วูดหรือเครื่องหอม ส่วนการเจาะรูและชักนำสารหอมเข้าสู่ลำต้นกฤษณาตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 18985 มีข้อถือสิทธิคือ “กรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสาร “Aquilaria resin” โดยการสร้างรอยแผลบนต้นกฤษณาที่ประกอบด้วยขั้นตอนของการคัดเลือกต้นกฤษณา… การทำให้เกิดรอยแผลบนลำต้นโดยการเอาเปลือกนอกและเนื้อเยื่อออก มีลักษณะเฉพาะคือ รอยแผลดังกล่าวเป็นรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมอย่างน้อยหนึ่งแห่งอยู่เหนือระดับพื้นดินระหว่าง 50 ถึง 70 เซนติเมตร และมีการเจาะรูผ่านเข้าไปถึงส่วนที่เป็นแก่นไม้อยู่ภายในกรอบรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวอย่างน้อยสองรู…รอยแผลรูปสี่เหลี่ยมดังกล่าวจะวางแนวเป็นระเบียบตามแนวดิ่งของต้นกฤษณาอย่างน้อยหนึ่งแนว… แนวที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของลำต้น ตรงที่บริเวณที่ทำให้เกิดรอยแผลจะวางแนวเหลื่อมกัน เพื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของต้นกฤษณา…กรรมวิธี…ยังประกอบด้วยขั้นตอนของการนำสารกระตุ้นเข้าสู่ลำต้นผ่านทางรูเจาะดังกล่าว” ดังนั้น กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์เลขที่ 18985 จึงเป็นกรรมวิธีการทำรอยแผลบนต้นกฤษณาให้มีรูปร่าง ขนาด และตำแหน่งตามที่กำหนด แล้วเจาะรูในกรอบรอยแผลและนำสารกระตุ้นเข้าสู่ลำต้นผ่านทางรูเจาะ เมื่อจำเลยที่ 1 เจาะรูทำรอยแผลในตำแหน่งเป็นเกลียวเวียนขึ้นไปตามลำต้นกฤษณาแล้วเสียบท่อเข้าไปในรูโดยให้ปลายท่อยาวโผล่พ้นลำต้น ซึ่งแตกต่างกับการทำรอยแผลรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวแล้วเจาะรูตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ดังกล่าว จึงไม่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรกรรมวิธีเลขที่ 18985 ของโจทก์ และไม่เป็นการลัดขั้นตอนกรรมวิธีของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ใช้กรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาซึ่งแตกต่างจากกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรกรรมวิธีเลขที่ 18985 ของโจทก์ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีดังกล่าวของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share