คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14941/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนสิทธิเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้โอนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือบุคคลที่สาม และไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวด้วยตนเอง จึงขอโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ แต่ตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้โอนภาระการชำระหนี้ของตนที่มีต่อโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ส่วนการโอนกิจการและที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็หาใช่สิทธิอันจะพึงเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกิจการและที่ดินในโครงการจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงหามีสิทธิอันใดที่จะเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ทำการค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในกิจการที่รับโอนมาได้ กรณีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่เห็นได้ว่าเป็นการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้เท่านั้น หาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงหามีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ที่ 1

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและโจทก์ร่วมในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
สำนวนหลังโจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนแรกแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด อลินทอง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนที่สอง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 5 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 10 เดือน (ที่ถูก ต้องระบุด้วยว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ตามสัญญาจ้างระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนากับโจทก์ที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานสาธารณูปโภคในโครงการหมู่บ้านสุขนิรันดร์ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 หลังจากครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2546 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ที่ 1 ว่า ยังค้างชำระหนี้ค่าก่อสร้างงานสาธารณูปโภคเป็นเงิน 9,553,900 บาท จึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ได้ก่อสร้างงานสาธารณูปโภคตามสัญญาจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว หากโจทก์ที่ 1 ยังทำงานไม่เสร็จตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาย่อมต้องโต้แย้งและไม่ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ดังกล่าว นอกจากนี้หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนา ก็ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนายังค้างชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเงิน 8,553,900 บาท จึงเป็นข้อยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า โจทก์ที่ 1 ได้ส่งมอบงานก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาเรียบร้อยแล้ว แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาไม่สามารถชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ จึงได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระหนี้แทน และเพื่อเป็นการตอบแทนการกระทำดังกล่าว จึงตกลงโอนกิจการและที่ดินในโครงการหมู่บ้านสุขนิรันดร์ให้แก่จำเลยที่ 1 ในการนี้จำเลยที่ 1 จึงสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ชำระหนี้ ความข้อนี้ปรากฏจากคำเบิกความของนายอภิรักษ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 ว่า หลังจากนั้นเช็คฉบับแรกจำนวนเงิน 2,000,000 บาท เรียกเก็บเงินได้ ส่วนเช็คอีกสองฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงนำเช็คพิพาท มามอบให้โดยยืนยันว่า เช็คทั้งสองฉบับสามารถเรียกเก็บเงินได้เมื่อถึงกำหนดสั่งจ่าย แต่เช็คพิพาททั้งสองฉบับก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดิม การสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ยังก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคไม่เสร็จ โดยอ้างสำเนาภาพถ่ายระบบสาธารณูปโภคในโครงการบ้านสุขนิรันดร์ในวันทำบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ เป็นหลักฐานก็ขัดกับเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว อีกทั้งตามสำเนาภาพถ่ายก็ปรากฏว่ามีการทำระบบสาธารณูปโภคเสร็จแล้ว แต่มีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งสัญญาจ้างก็ระบุไว้แล้วว่า หากมีความชำรุดบกพร่องจากงานจ้างภายในกำหนด 12 เดือน โจทก์ที่ 1 จะต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อย แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแจ้งให้โจทก์ที่ 1 แก้ไขแต่อย่างใด หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ต่อไปว่า บันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือเป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง เห็นว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้โอนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนือบุคคลที่สาม และไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวด้วยตนเอง จึงขอโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้รับโอนสิทธิ แต่ตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาได้โอนภาระการชำระหนี้ของตนที่มีต่อโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระแทน ส่วนการโอนกิจการและที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาให้แก่จำเลยที่ 1 ก็หาใช่สิทธิอันจะพึงเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าเหตุที่ไม่ชำระเงินตามเช็คเนื่องจากรอใบอนุญาตจัดสรรที่ดินและหนังสือค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคจากโจทก์ที่ 1 นั้น เมื่อตรวจดูสัญญาจ้างก่อสร้างสาธารณูปโภคระหว่างโจทก์ที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนา ไม่ปรากฏข้อตกลงว่า โจทก์ที่ 1 ต้องทำหนังสือค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในโครงการ แม้จะปรากฏจากคำเบิกความของนายอภิรักษ์ โจทก์ที่ 1 เคยค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นเวลา 1 ปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 กระทำไปเพียงช่วยเหลือให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาสามารถออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินได้เท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำไปตามข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอนกิจการและที่ดินในโครงการหมู่บ้านสุขนิรันดร์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด กุลวัชพัฒนาจึงหามีสิทธิอันใดที่จะเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ทำการค้ำประกันค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคในกิจการที่รับโอนมาได้ กรณีตามบันทึกข้อตกลงแปลงหนี้ใหม่เห็นได้ว่าเป็นการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้เท่านั้น หาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงหามีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share