แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมิได้คัดค้านการอ้างเอกสารเป็นพยานของโจทก์เสียก่อนวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125มีผลเพียงห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารเมื่อพ้นกำหนดเวลาเท่านั้น มิใช่เป็นบทบังคับให้ศาลต้องยอมรับว่าความจริงเป็นดังเอกสารนั้น ความจริงเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องฟังจากพยานหลักฐานอีกชั้นหนึ่งต่างหาก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 656 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ โดยรับมรดกจากบิดาเมื่อ พ.ศ. 2503 อำเภอกุฉินารายณ์ ได้สร้างฝายน้ำล้นกั้นลำห้วยบง เป็นเหตุให้น้ำท่วมที่ดินราษฎรที่ตั้งอยู่สองฝั่งของลำห้วยบง รวมทั้งที่ดินของโจทก์บางส่วน เป็นเนื้อที่ 9 ไร่3 งาน กระทรวงมหาดไทยจึงซื้อที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่น้ำท่วมนั้นในราคา 3,800 บาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1 ไร่28 ตารางวา โจทก์ได้ครอบครองทำกินตลอดมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอกุฉินารายณ์ไม่ยอมออกให้อ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์ และในราวปลายเดือนสิงหาคม 2529จำเลยได้ปลูกศาลาบนที่ดินของโจทก์เพื่อให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 28 ตารางวาเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยรื้อถอนศาลาออกไปและให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชื่อหนองเลิงซิวสาธารณประโยชน์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับฟังเนื้อที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.2 แล้วฟังว่าตามสำเนาทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย จ.5 มิได้ระบุว่าแบ่งขายหรือขายเฉพาะส่วน จึงวินิจฉัยว่าโจทก์ขายที่ดินทั้งแปลง และฟังว่าสำเนาแผนที่หนองเลิงซิวสาธารณประโยชน์เอกสารหมาย จ.6 ไม่ถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 หรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยมิได้คัดค้านการอ้างเอกสารเป็นพยานของโจทก์เสียก่อนวันสืบพยานตามมาตรานี้ก็เป็นเพียงการห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารเมื่อพ้นกำหนดเวลาเท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลต้องยอมรับว่าความจริงเป็นดังเอกสารนั้นไม่ เพราะความจริงเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องฟังจากพยานหลักฐานอีกชั้นหนึ่งต่างหากซึ่งตามมาตรา 104บัญญัติว่าให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลยพินิจพิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า ข้อความบางส่วนในเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน