คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือสมยอมกันดังนี้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 4 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำการฉ้อฉลโจทก์ โอนขายที่ดินมรดกให้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ทั้ง 4 ได้รับความเสียหายขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าว

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินมรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยสุจริตในขอบเขตอำนาจของผู้จัดการมรดก จำเลยไม่ได้สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มาปรับใช้ไม่ได้ต้องนำมาตรา 1724 มาใช้บังคับ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำการฉ้อฉลโจทก์ โอนขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่โจทก์ให้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงอันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือสมยอมกัน ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเสียเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้กระทำทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกเสียเปรียบ เข้าลักษณะเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉล ตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อคดีฟังได้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นไปโดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของกองมรดกได้รับความเสียหาย กรณีย่อมนำมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาปรับบทใช้บังคับได้ข้อที่จำเลยฎีกาว่า กรณีจะนำมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ไม่ได้ เพราะทายาทไม่ใช่เจ้าหนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินที่พิพาทให้แก่ตนได้และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1719มาตรา 1720 และ มาตรา 1736 กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ทำการโอนทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไป ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า กรณีต้องนำมาตรา 1724 วรรคสองมาใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทตามมาตรา 1724 วรรคสองดังจำเลยฎีกา จึงนำบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มาใช้บังคับแก่กรณีไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ

พิพากษายืน

Share