คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 81 นั้น เกี่ยวกับปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิดไม่สามารถจะกระทำให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เช่น ใช้ปืนที่มิได้มีกระสุนบรรจุอยู่เลยยิงคน โดยเข้าใจผิดคิดว่ามีกระสุนบรรจุอยู่พร้อมแล้ว ซึ่งอย่างไรๆ ก็ย่อมจะทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงมิได้เลย ดั่งนี้ จึงจะถือได้ว่า เป็นกรณีที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้
จำเลยใช้ปืนที่มีกระสุนบรรจุอยู่ถึง 7 นัดยิงโจทก์ร่วม กระสุนนัดแรกด้านไม่ระเบิดออก ซึ่งอาจเป็นเพราะกระสุนเสื่อมคุณภาพหรือเพราะเหตุบังเอิญอย่างใดไม่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้ว กระสุนก็ต้องระเบิดออกและอาจเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมได้ หาเป็นการแน่แท้ไม่ว่าจะไม่สามารถกระทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงของจำเลยเช่นนั้น กรณีนี้ต้องปรับด้วย มาตรา 80 ไม่ใช่มาตรา 81 และถ้าหากไม่มีคนเข้าขัดขวางจำเลยไว้ทันท่วงที จำเลยอาจยิงโจทก์ร่วมด้วยกระสุนที่ยังเหลือบรรจุอยู่นั้นต่อไปอีกก็ได้ ย่อมเห็นชัดว่า ไม่ใช่กรณีที่ปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิดไม่สามารถจะกระทำให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามความหมายใน มาตรา 81

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยใช้ปืนที่มีกระสุนบรรจุอยู่ ๗ นัด ยิงโจทก์ร่วม กระสุนนัดแรกด้าน นายช้อยกับนายทอง จึงเข้าขัดขวางจำเลยไว้
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า จำผิดฐานพยายามฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ จำคุก ๑๐ ปี
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยฐานพยายามกระทำความผิดตาม มาตรา ๘๐ หาชอบไม่ ควรต้องปรับด้วย มาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจกฎหมายไม่ถูกต้อง เพราะกรณีที่จะปรับด้วยมาตรา ๘๑ นั้น เกี่ยวกับปัจจัยซึ่งในการกระทำผิดไม่สามารถจะกระทำให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เช่น ใช้ปืนที่มิได้มีกระสุนบรรจุอยู่เลยยิงคน โดยเข้าใจผิดคิดว่ามีกระสุนอยู่พร้อมแล้ว ซึ่งอย่างไร ๆ ก็จะทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงมิได้เลย ดังนี้ จึงจะถือได้ว่า เป็นกรณีที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ แต่สำหรับคดีนี้มิใช่เช่นนั้น กล่าวคือ จำเลยใช้ปืนที่มีกระสุนบรรจุอยู่ ถึง ๗ นัด ยิงโจทก์ร่วม กระสุนนักแรกด้าน ไม่ระเบิดออก ซึ่งอาจเป็นเพราะกระสุนเสื่อมคุณภาพ หรือเพราะเหตุบังเอิญอย่างใดก็ได้ ไม่ปรากฏ มิฉะนั้นแล้วกระสุนก็ต้องระเบิดออก และอาจเกิดอันตรายแก่โจทก์ร่วมได้ หาเป็นการแน่แท้ไม่ว่าจะไม่สามารถกระทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงของจำเลยเช่นนั้น กรณีจึงต้องปรับด้วย มาตรา ๘๐ ไม่ใช่ มาตรา ๘๑ และถ้าหากนายว้อยกับนายทองใบพยานโจทก์ไม่เข้าขัดขวางจำเลยไว้ทันท่วงที จำเลวอาจยิงโจทก์ร่วมด้วยกระสุนที่ยังเหลือบรรจุอยู่นั้นต่อไปอีกก็ได้ จึงยิ่งเห็นชัดว่า ไม่ใช่กรณีที่ปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิดไม่สามารถจะกระทำให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามความหมายใน มาตรา ๘๑

Share