คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14928/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) ที่ระบุว่าการประสบอันตรายไม่ว่าเป็นกรณีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปนั้น ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปประกอบด้วย
ร. ลูกจ้างโจทก์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 17 วัน และพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูซึ่งอาจแปลได้ว่าพักรักษาตัวอยู่ในหอพักผู้ป่วยหนัก 15 วัน แม้หลังจากนั้น ร. พักรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยรวมจนถึงวันออกจากโรงพยาบาลรวมเป็นเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐเกาหลี 27 วัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้องผู้ป่วยรวมที่สาธารณรัฐเกาหลีมีลักษณะเป็นหอผู้ป่วยหนักหรือหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไม่ การประสบอันตรายของ ร. จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลาและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กับให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ 1,160,929.90 บาท หรือจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2), (3) และข้อ 5
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยเพิ่มเติมหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าแม้นายโรมรันลูกจ้างโจทก์ผู้ประสบอันตรายพักอยู่ในห้องผู้ป่วยรวมก็ตามแต่การที่นายโรมรันได้รับบาดเจ็บกระดูกต้นคอหักจนต้องพักรักษาตัวที่สาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2550 โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 17 วัน เมื่อกลับมายังราชอาณาจักรไทยแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นให้พักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2550 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2550 จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) เห็นว่า ตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 4 (2) ระบุว่า “ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องพักรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ยี่สิบวันขึ้นไป” การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่ว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยนั้นต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าขณะทำการรักษานายโรมรันต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพียง 17 วัน และพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูซึ่งอาจแปลได้ว่าพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักเพียง 15 วัน จึงไม่ครบ 20 วัน ตามกฎกระทรวงดังกล่าว แม้หลังจากนั้นนายโรมรันพักรักษาตัวต่อในห้องผู้ป่วยรวมจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2550 รวมเป็นเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐเกาหลี 27 วัน ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้องผู้ป่วยรวมที่สาธารณรัฐเกาหลี มีลักษณะเป็นหอผู้ป่วยหนักหรือหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไม่ การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของนายโรมรันจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share