คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิง และจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟัน ม.ผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วเอาเงินสดจากตัวผู้ตายพากันหลบหนีไป แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำไปโดยประสงค์จะชิงทรัพย์ของผู้ตายก็ตามแต่ในขณะเดียวกันจำเลยทั้งสองก็มีเจตนาฆ่าผู้ตายด้วย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) อีกบทหนึ่งและต้องใช้กฎหมายบทนี้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยทั้งสองตามมาตรา 90.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 339, 340 ตรี, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 กับขอให้ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 2,150บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่าได้ทำให้นายมูล เต๋จะแดง ถึงแก่ความตายจริง แต่เป็นการป้องกันตัวและปฏิเสธข้อหาชิงทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7), 3369 วรรคท้าย, 340 ตรี, 83, 90 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ลงโทษตามมาตรา289(7) ซึ่งเป็นบทหนักประหารชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 339 วรรคท้าย, 83, 90 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 ลงโทษตามมาตรา 289(7)ซึ่งเป็นบทหนักประหารชีวิต คำให้การของจำเลยทั้งสองชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย 2,150 บาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้ตายเพื่อประสงค์เอาทรัพย์ของผู้ตาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340ตรี เท่านั้น พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย, 340 ตรี, 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย, 83 วางโทษประหารชีวิตคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุคือวันที่ 7 เมษายน 2527นายมูล เต๋จะแดง ผู้ตาย กลับจากขายลูกสุกรเดินมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางเดินในป่าบ้านขุนแม่เทยน้อย ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกจำเลยที่ 1 ใช้ปืนลูกซองยาวยิงและถูกจำเลยที่ 2 ใช้มีดอีโต้ฟันถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้เอาเงินสดจำนวน 2,150 บาทจากตัวผู้ตายแล้วพากันหลบหนีไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิง และจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟันผู้ตายนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำไปโดยประสงค์จะชิงทรัพย์ของผู้ตายก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันจำเลยทั้งสองก็มีเจตนาฆ่าผู้ตายด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงต้องเป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตาย เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยทั้งสองได้กระทำการชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองได้กระทำไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ตามที่โจทก์ฟ้องอีกบทหนึ่งและต้องใช้กฎหมายบทนี้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้ายเท่านั้น และใช้กฎหมายนี้ลงโทษจำเลยทั้งสองมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share