คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก อ้างว่าศาลเพิกถอนคำสั่งเพราะสั่งไปโดยผิดหลง โดยผู้ร้องแถลงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงศาลชั้นต้นยกคำร้อง ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกให้ถูกต้อง มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกมาเสนอศาล และฉ้อฉลทรัพย์มรดกไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวดังนี้ ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคำร้องฉบับหลังนี้จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับคำร้องฉบับแรกไม่เป็นการร้องซ้ำ
ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1629
ภรรยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันกับสามีจนสามีถึงแก่ความตาย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยา ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1713

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นได้แต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภรรยาของ พ. โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่ง พ. เจ้ามรดกได้รับรองว่าเป็นบุตรโดยพฤตินัย ผู้ร้องอ้างว่า พ. ไม่มีบุตรและภรรยา เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้าน ผู้ร้องทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรและภรรยาของเจ้ามรดก การกระทำของผู้ร้องจึงมิได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกมาเสนอต่อศาลเป็นการแสดงเจตนาฉ้อฉลเอาทรัพย์มรดกเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยสุจริตไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกนี้ต่อไป

ผู้ร้องให้การว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเป็นบุตรเจ้ามรดกจริงก็เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิได้รับมรดกและไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิรับมรดกและไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก คำร้องของผู้คัดค้านเป็นคำร้องซ้ำกับคำร้องที่เคยยื่นต่อศาลซึ่งศาลได้สั่งยกคำร้องไปแล้ว ขอให้ยกคำร้องคัดค้าน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิร้องคัดค้านได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ พ. เป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้คัดค้านที่ 1 มีคำสั่งให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ พ.

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องฉบับแรกของผู้คัดค้านที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องไปเป็นคนละประเด็นกับคำร้องฉบับหลัง เพราะฉบับแรกเป็นประเด็นเรื่องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเพราะสั่งไปโดยผิดหลงว่า ผู้ร้องแถลงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงหรือไม่ ส่วนฉบับหลังนั้นมีประเด็นขึ้นใหม่ว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกให้ถูกต้องในการสืบหาทายาท มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกมาเสนอศาลและฉ้อฉลทรัพย์มรดกไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปหรือไม่ ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคำร้องทั้งสองฉบับเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการร้องซ้ำ

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ พ. บิดาได้รับรองแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกเท่านั้น ไม่หมายความถึงผู้ที่อยู่ในลำดับทายาททุกลำดับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1629 ผู้ร้องเป็นเพียงทายาทลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ พ. เจ้ามรดก ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิจัดการทรัพย์มรดก

ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของ พ. เจ้ามรดก และผู้คัดค้านที่ 2ได้อยู่กินร่วมกับ พ. จน พ. ถึงแก่ความตาย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาระหว่างเป็นสามีภรรยาย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกัน จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้คัดค้านที่ 2 สมควรเป็นผู้จัดการมรดก

พิพากษายืน

Share