แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับขนส่งคนโดยสาร จำเลยต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ารถโดยสารคันนั้นเช่ามา และคนขับไม่ใช่ลูกจ้างของตนหาได้ไม่ ต้องใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดอุปการะเลี้ยงดูจากภริยาและบุตรที่ถูกรถชนตาย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิ้นเป็นเงิน 174,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 173,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่นางอุบลภรรยาโจทก์และเด็กหญิงมาเรียบุตรโจทก์ถึงแก่กรรมทำให้โจทก์ขาดไร้อุปาระตามกฎหมาย กรณีนี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าขาดไร้อุปการะอย่างไร ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้อุปการะได้ จำเลยยังไม่เห็นพ้องด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม บัญญัติว่า”ถ้าเหตุที่ตายลงนั้น ทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ตามมาตรา 1453 (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง) บัญญัติว่า “สามีภริยาจำต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน”และตามมาตรา 1535 (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้อง) บัญญัติว่า”บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีอยู่เช่นนี้ จึงถือได้ว่าการที่นางอุบลภรรยาโจทก์และเด็กหญิงมาเรียบุตรของโจทก์ตายลงทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีและเป็นบิดาของบุคคลทั้งสองต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายทั้งสองตามกฎหมายไปนั้นได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับฐานะของโจทก์แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ใช้เงินค่าขาดอุปการะสำหรับนางอุบลผู้ตายเป็นเงิน 72,000 บาท เด็กหญิงมาเรียผู้ตายเป็นเงิน 30,000 บาทนั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ. – 0405 คันเกิดเหตุเป็นของบริษัทยูนิเวอร์ซัล ทัวร์ จำกัด จำเลยได้เช่ารถคันนี้พร้อมทั้งคนขับมารับคนโดยสาร จำเลยมิได้เป็นตัวการดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย และจำเลยมิใช่เป็นนายจ้างคนขับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสืบรับว่าจำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.พ. – 0405 คันเกิดเหตุจากบริษัทยูนิเวอร์ซัล ทัวร์ จำกัด มาใช้ขนส่งคนโดยสารในเส้นทางกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดอุบลราชธานี ค่าเช่ารถยนต์รวมทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างคนขับเป็นเงินเดือนละ 45,000 บาท โดยผู้ให้เช่ารถยนต์นั้นมาจอดที่ท่าออกรถของจำเลยที่ 1 เพื่อรับคนโดยสารตามเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าว เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับขนส่งคนโดยสาร จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 634 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ารถโดยสารคันนั้นเช่ามาและคนขับไม่ใช่ลูกจ้างของตนหาได้ไม่”
พิพากษายืน