แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ผู้เสียหายและพนักงานอัยยการต่างเป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยในข้อหาและกรณีเดียวกันและศาลได้พิพากษาคดีที่พนักงานอัยยการเป็นโจทก์ไปก่อนแล้วยกฟ้องเสียนั้น ถ้าผู้เสียหายได้ฟ้องคดีก่อนศาลพิพากษาในคดีที่อัยยการเป็นโจทก์และศาลมิได้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน ไม่ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีของผู้เสียหายระงับไปโดยผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนนั้น คดีอาญาเรื่องเดียวกันซึ่งทั้งพนักงานอัยยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นศาลเดียวกัน การที่ศาลจะสั่งให้รวมการพิจารณาไปด้วยกันหรือไม่นั้นยอมอยู่ในดุลยพินิจของศาล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นได้สั่งให้รอคดีของโจทก์ไว้ เพราะคดีที่โจทก์ฟ้องนี้มีข้อหาเช่นเดียวกับที่อัยยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีที่อัยยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้น จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จำเลยไม่สืบพะยาน ศาลชั้นต้นพิพากยืน คดีถึงที่สุดแล้วศาลชั้นต้นจึงได้ดำเนินการพิจารณาที่โจทก์ฟ้องจำเลยนี้ต่อไป
จำเลยให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้อง เพราะความผิดนี้ศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขากแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องด้วยข้อตัดฟ้องของจำเลย พิพากษายกฟ้อง โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธิในการนำคดีมาฟ้องของ โจทก์ ยังไม่ระงับไปตามประมวล วิธีพิจารณาความอาญา ม. ๓๙ จึง พิพากษาให้ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องก่อน ศาลพิพากษาคดีที่อัยยการเป็นโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องได้ตามประมวล วิธีพิจารณาความอาญา ม. ๒๘ (๒) เรื่องนี้ศาลมิได้รวม พิจารณาไปด้วยกันกับคดีที่ อัยยการเป็น โจทก์ จึงไม่มีผลกระทบกระทั่งให้คดีนี้ต้องรับผลตามคำพิพากษาของคดีทที่อัยยการเป็นโจทก์นั้นด้วย และคดีนี้ก็ไม่เข้าอยู่ในบัญญัติมาตรา ๓๙(๔) อันจะทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องร้องของโจทก์ ระงับไป พิพากษายืนตาม ศาลอุทธรณ์