คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ดังกล่าวตามฟ้อง ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
เงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายเงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่ ส. พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นมรดกของ ส. ถึงแม้ว่า ส. จะได้ทำหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวโดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตามแต่หลังจากที่ ส. ทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ไว้แล้ว ปรากฏว่า ส. ได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ ให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ผลของพินัยกรรมทำให้จำเลยหมดสิทธิได้รับเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่ ส. พึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 35,799,820.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 35,799,820.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสกับนายสุรเดช ตั้งแต่ปี 2529 จนกระทั่งนายสุรเดชถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสุรเดชกับนางญานี แล้วนายสุรเดชกับนางญานีจดทะเบียนหย่ากัน ระหว่างยังมีชีวิตอยู่นายสุรเดชเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงใหม่ จำกัด มีเงินฝากและหุ้นในสหกรณ์ฯ รวมเป็นเงิน 71,599,641.83 บาท เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 นายสุรเดชทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าว ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าว ตามหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ หลังจากนั้นนายสุรเดชได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ระบุให้โจทก์เป็นผู้ได้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่นายสุรเดชฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2554 นายสุรเดชถึงแก่ความตาย เงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าวตกเป็นมรดกของนายสุรเดช
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมไว้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยแล้ว จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุรเดช โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของนายสุรเดชในสหกรณ์ดังกล่าวตามฟ้อง ไม่ใช่มรดกของนายสุรเดชเพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อนายสุรเดชถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่นายสุรเดชทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอมจึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่นายสุรเดชทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าวเป็นมรดกของนายสุรเดช ถึงแม้ว่านายสุรเดชจะได้ทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวโดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากที่นายสุรเดชทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ไว้แล้ว ปรากฏว่านายสุรเดชได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ระบุไว้ในข้อ 1.9.2 ให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่นายสุรเดช ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่นายสุรเดชจะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ผลของพินัยกรรมทำให้จำเลยหมดสิทธิได้รับเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ดังกล่าว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share