แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ จึงเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) เมื่อคู่ความยื่นคำร้องและศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องตามมาตรา 180คำสั่งนี้จึงมีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18ซึ่งทำให้ประเด็นที่โจทก์ตั้งขึ้นโดยคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งเสร็จไป โจทก์อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามมาตรา 228(3) เพราะไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน แล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ทำการชี้สองสถานหรือทำการสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอแก้ไขคำฟ้องและขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้กรณีไม่ใช่ล่วงเลยการชี้สองสถานและวันสืบพยานจนศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นการพิจารณาไปแล้ว เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ถูกคำพิพากษาศาลฎีกายกเสียแล้ว การขอแก้ไขคำฟ้อง โจทก์ย่อมจะขอแก้ไขได้แม้เป็นการเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงหรือสละข้อเท็จจริงเพื่อให้ข้อหาที่ตั้ง ไว้เดิม แต่ยังคงให้จำเลยรับผิดตามเดิม ส่วนการขอแก้ไขคำให้การ แก้ฟ้องแย้ง แม้จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ ย่อมกระทำได้ ตามมาตรา 179(2)(3)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วแลกเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาพิพากษายืน ก่อนสืบพยานโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้นำสืบก่อนโจทก์ยื่นคำร้องหลายฉบับ คือ คำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้สองสถาน ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ทำการชี้สองสถานและให้ทำการชี้สองสถาน คำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง คำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วดำเนินการต่อไป จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาเป็นประการแรกว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ตัวคำร้องไม่ใช่คำคู่ความไม่ใช่คำร้องที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ แต่เป็นเพียงคำร้องขอแก้ไขคำคู่ความ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งที่ว่านี้ได้ปรากฏว่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะทำการสืบพยาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลงวันที่ 6 ธันวาคม 2525 และยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2525 และลงวันที่ 6 ธันวาคม 2525 รวม 3 ฉบับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งให้ยกคำร้องดังกล่าวทุกฉบับ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก็ดีคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งก็ดีเป็นการตั้งประเด็นระหว่างคู่ความจึงเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) เมื่อคู่ความยื่นคำร้องเข้ามาและศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 คำสั่งนี้จึงมีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 ซึ่งทำให้ประเด็นที่โจทก์ตั้งขึ้นโดยคำร้องแก้ไขคำฟ้องและคำร้องแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งเสร็จไปโจทก์จึงย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา 228(3)คำร้องดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเพียงคำร้องซึ่งไม่ใช่คำคู่ความหรือเป็นเพียงคำร้องที่ขอแก้ไขคำคู่ความดังนั้นคำสั่งของศาลที่สั่งยกคำร้อง จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาดังที่จำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาเป็นประการต่อมาว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง โจทก์ได้ยื่นภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้แล้วจึงเป็นการล่วงเลยกำหนดวันชี้สองสถานและวันสืบพยานจนคดีเสร็จสิ้นการพิจารณาไปจากศาลชั้นต้นแล้ว การแก้ไขคำคู่ความรวมทั้งแก้ไขเอกสารท้ายคำคู่ความย่อมอาจทำให้ประเด็นที่ศาลฎีกาสั่งให้ดำเนินคดีเปลี่ยนแปลงไปและประเด็นที่กำหนดไว้ คู่ความก็อาจนำสืบพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่อ้างได้อยู่แล้ว เห็นว่า ศาลฎีกาไม่ได้กำหนดประเด็น และไม่ได้กำหนดหน้าที่นำสืบ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามคำสั่งศาลฎีกา การจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งจึงไม่เป็นเหตุให้ประเด็นที่ศาลฎีกาสั่งเปลี่ยนแปลงไปแต่เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาเห็นว่ายังมีข้อโต้แย้งอยู่หลายประการซึ่งจะต้องฟังข้อเท็จจริงก่อน จึงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีเสียใหม่ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินการตามคำสั่งศาลฎีกา ก็ชอบที่จะปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไปและเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้ทำการชี้สองสถานหรือทำการสืบพยาน โจทก์ก็ชอบที่จะขอแก้ไขคำฟ้องและขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้ กรณีจึงไม่ใช่ล่วงเลยการชี้สองสถานและวันสืบพยานจนศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นการพิจารณาไปแล้วดังที่จำเลยฎีกา เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ถูกคำพิพากษาศาลฎีกายกเสียแล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่เกิดผลดังที่จำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์โจทก์ฟ้องตั๋วแลกเงินทั้งสองฉบับในฐานะจัดการแทนธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่า โจทก์รับโอนตั๋วมาโดยขาดสายและจำเลยมีข้อต่อสู้กับบริษัทโพรซิดา จำกัดซึ่งเป็นตัวการของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ฉะนั้นข้อที่ว่าโจทก์เป็นตัวแทนเพื่อเรียกเก็บเงินของผู้ใดจึงเป็นประเด็นสำคัญเพราะจำเลยได้ต่อสู้ว่า โจทก์เป็นตัวแทนเพื่อเรียกเก็บเงินของบริษัทโพรซิดา จำกัด ซึ่งจำเลยมีข้อต่อสู้กับบริษัทดังกล่าวดังนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องจึงเป็นการแก้มากต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและทำให้จำเลยเสียเปรียบการขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งโดยตัดคำว่าบริษัทโพรซิดาจำกัดออก เป็นการแก้ในหลักการที่จำเลยฟ้องแย้งและขอหักกลบลบหนี้ในฐานะที่โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทโพรซิดา จำกัด ทำให้จำเลยไม่สามารถที่จะฟ้องแย้งและขอหักกลบลบหนี้ได้ ทำให้จำเลยเสียเปรียบเป็นการแก้ไขที่มีผลให้เกิดประเด็นแห่งคดีใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเด็นแห่งคดี เห็นว่า การขอแก้ไขคำฟ้องโจทก์ย่อมจะขอแก้ไขได้แม้เป็นการเพิ่มเติมข้อเท็จจริง หรือสละข้อเท็จจริงเพื่อให้ข้อหาที่ตั้งไว้เดิมบริบูรณ์ แต่ยังคงให้จำเลยรับผิดตามเดิม ส่วนการขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งแม้จะเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(2)และ(3)ตามลำดับ ปรากฏว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ ลงวันที่ 6 ธันวาคม2525 โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องรวม 2 ประการ ประการแรกโจทก์ขอเพิ่มเติมข้อความในคำฟ้องข้อ 2 วรรคแรกจากข้อความที่ว่า ปรากฏตามภาพถ่ายตั๋วแลกเงินพร้อมด้วยคำแปล เอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 โดยเพิ่มเติมข้อความที่เป็นความหมายของคำว่า “โดมิซิลิเอซิออง” (Domiciliation)รวมทั้งรายละเอียดของตั๋วแลกเงิน ซึ่งเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2ของโจทก์ก็มีคำดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแต่เดิมโจทก์ให้ความหมายของคำดังกล่าวในความหมายที่แคบกว่า ส่วนประการที่ 2โจทก์ขอแก้ไขคำแปลเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ก็ทำนองเดียวกันเป็นเรื่องความหมายของคำเดียวกันนี้เช่นกัน ส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2525ก็ปรากฏว่า โจทก์ขอแก้ไขข้อความที่ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยได้รับโอนมาจากบริษัทโพรซิดา จำกัด เป็นว่าธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สลักหลังให้โจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงในฐานะจัดการแทนธนาคารนครหลวงไทย จำกัดเท่านั้น ข้อความที่ขอแก้ไขจึงตรงกับคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำให้การฟ้องแย้งลงวันที่ 6 ธันวาคม 2525 ข้อความที่แก้ไขก็เป็นเรื่องเพิ่มเติมข้อความว่า “โดมิซิลิเอซิออง” ซึ่งคำดังกล่าวปรากฏในเอกสารท้ายฟ้องหมาย 2 และคำว่า “จ่ายตามคำสั่งธนาคารนครหลวงไทยกรุงเทพ” ซึ่งก็ปรากฏอยู่ในเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 เช่นเดียวกันและในคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งฉบับเดียวกันที่โจทก์ขอตัดคำว่า “บริษัทโพรซิดา จำกัด” ออก ก็คงได้ใจความตรงตามคำฟ้องเดิมของโจทก์นั่นเองรวมทั้งคำว่า “โดมิซิลิเอซิออง” การขอแก้ไขทั้งคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งดังกล่าว จึงเป็นเพียงเพื่อความสมบูรณ์ของความหมายของคำและเพื่อให้ตรงฟ้องเดิมจึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่ประการใด อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งนั่นเอง ไม่ทำให้ประเด็นแห่งคดีเปลี่ยนไปดังจำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้วดำเนินการต่อไปชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่