คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนฟ้องคดีแปดวัน ลูกหนี้ได้โอนขายอาคารโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่ในที่เช่าให้แก่เจ้าของที่ดินที่เช่า คือผู้คัดค้านในคดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วยคนหนึ่งในราคา 300,000 บาท (น้อยกว่าราคาจริง)โดยไม่มีการชำระราคากัน แต่มีข้อสัญญาว่า หนี้สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ให้ผู้คัดค้านรับเป็นลูกหนี้ชำระให้เอง ส่วนหนี้สินต่าง ๆของผู้คัดค้านที่ค้างอยู่กับลูกหนี้ ผู้คัดค้านยอมยกให้แก่ลูกหนี้ทั้งหมดลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นอีก การรับโอนของผู้คัดค้านและวิธีการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งประสงค์ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยเสมอหน้ากัน การโอนทรัพย์ของลูกหนี้ดังกล่าวเห็นได้ว่า ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ซึ่งมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเสียได้

ย่อยาว

คดีนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องว่านางสมวรรณ ท้าวสัน ได้ฟ้องนายสมพงษ์ ดาวพิเศษ ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 30 เมษายน 2508 ให้พิทักษ์ทรัพย์นายสมพงษ์ ดาวพิเศษ เด็ดขาดแล้วตามทางสอบสวนพบว่านายสมพงษ์ลูกหนี้ได้เช่าที่ดินนายทองเติบ สุวรรณิน ผู้คัดค้านประมาณ 6 ไร่ ทำการก่อสร้างโรงเรียนสมพงษ์เซ็นปีเตอร์ขึ้นเป็นอาคารเรียน 2 ชั้น 2 หลัง 3 ชั้น 1 หลัง และอาคารสำนักงานกับโรงอาหารอย่างละ 1 หลัง ห้องส้วม 4 หลัง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ถึง 2507 ไม่มีกำไรเลย เนื่องจากกู้ยืมเงินจากผู้อื่นมาลงทุน เป็นเหตุให้มีหนี้สินมาก ก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง 8 วัน ลูกหนี้ได้โอนขายตัวอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งของลูกหนี้ ในราคา 300,000 บาทโดยไม่มีการชำระเงินกันเลยเป็นแต่ตกลงกันก่อนโอนว่า ผู้คัดค้านจะชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายแทนลูกหนี้เท่านั้น อันเป็นการโอนทรัพย์ในเวลา 3 เดือนก่อนถูกฟ้องและในเวลา 3 ปี ก่อนลูกหนี้ล้มละลาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 และ 115 เพราะทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ

นายทองเติบ สุวรรณิน คัดค้านว่าการโอนดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกเพิกถอน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การโอนดังกล่าวลูกหนี้มีความมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนเสีย

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องจึงฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโอนดังกล่าวได้ความว่า ลูกหนี้ใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารไป 1,200,000 บาท แต่ตามสัญญาลูกหนี้โอนขายเพียง 300,000 บาท มีข้อตกลงให้ผู้คัดค้านชำระหนี้แทนตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้ทั้งหมดที่ได้มอบให้โดยไม่รับเงินในการขายเลย ต่อมามีเจ้าหนี้ไปคัดค้านที่กระทรวงศึกษาธิการ ผู้คัดค้านจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมกับเจ้าหนี้ซึ่งรวมทั้งเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เจ้าหนี้จึงได้ถอนการคัดค้าน อันเป็นผลให้โอนกิจการโรงเรียนได้ แต่แล้วผู้คัดค้านก็มิได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงได้ยื่นฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายดังกล่าวมาแล้ว และได้ความต่อไปว่าเจ้าหนี้ผู้คัดค้านสัญญาจะชำระแทนลูกหนี้นั้นเป็นเจ้าหนี้ที่ผู้คัดค้านได้ค้ำประกันไว้เท่านั้น ซึ่งผู้คัดค้านมีความผูกพันจะต้องชำระแทนอยู่แล้วเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการโอนดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งประสงค์ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้โดยเสมอภาคทั่วหน้ากัน การโอนทรัพย์ของลูกหนี้ดังกล่าวเห็นได้ว่าทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share