คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ไม่มีบทบัญญัติให้ริบรถยนต์ซึ่งบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแต่เมื่อถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไป และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำเอามาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 การสั่งริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 เป็นดุลพินิจศาลหยิบยกพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปประกอบคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งริบของกลางนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินและบรรทุกสิ่งของที่มีความกว้างเกินส่วนกว้างของรถ ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 5, 18, 150 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง รวม 2 กระทง จำคุก 15 วัน ปรับ 1,250 บาทและรอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ส่วนคำขออื่นยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง 5,500 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 25 ของน้ำหนักรถยนต์และน้ำหนักบรรทุกที่ทางราชการอนุญาตไว้ เป็นการใช้ทรัพย์ของกลางเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ทางหลวงแผ่นดินและต่อส่วนรวม พิพากษาแก้เป็นว่าให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 มิได้บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ แสดงว่า บทกฎหมายดังกล่าวนี้ไม่ประสงค์ให้ริบของกลาง ดังนั้น ศาลจะสั่งริบรถยนต์ของกลางไม่ได้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกรถแทรกเตอร์ซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่าข้อกำหนดตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินอันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดด้วยเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295มิได้บัญญัติถึงรถยนต์ของกลางที่ใช้กระทำความผิดไว้โดยเฉพาะแต่ก็ถือว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นจึงนำมาตรา 33 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาส่วนที่จำเลยฎีกาว่าคำฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงแผ่นดิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์อ้างเหตุดังกล่าวเพื่อริบรถยนต์ของกลางเป็นการมิชอบนั้น เห็นว่า การริบของกลางในกรณีนี้อยู่ในดุลพินิจของศาล การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งริบของกลางนั้นก็โดยอาศัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปประกอบคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยนั่นเอง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share