แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายนำเงิน 5,500 บาท มามอบให้เป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาจากคนร้ายที่ลักทรัพย์ และหากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซึ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงิน 5,500 บาท ไปให้จำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2545 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง มีคนร้ายเข้าไปในห้องพักเลขที่ 502 หอพักไวยหงษ์ อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสาวสิรินุช คุรุเมธากร นายจตุพล เพชรชนะ และนายอัษฎาวุธ คุรุเมธากร ผู้เสียหายทั้งสาม แล้วลักเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 8210 จำนวน 1 เครื่อง ราคา 7,000 บาท ของนางสาวสิรินุชผู้เสียหายที่ 1 นาฬิกาข้อมือยี่ห้อทีมโก้ จำนวน 1 เรือน ราคา 300 บาท กระเป๋าสตางค์พร้อมเงินสดจำนวน 2,500 บาท ของนายจตุพลผู้เสียหายที่ 2 และกระเป๋าสตางค์พร้อมเงินสดจำนวน 900 บาท ของนายอัษฎาวุธผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต ต่อมาในวันเดียวกันเวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่และนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ทั้งนี้จำเลยเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสาม หรือมิฉะนั้นจำเลยรับของโจร โดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่และนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไว้จากคนร้าย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2545 เวลากลางวัน ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยได้กรรโชกทรัพย์โดยขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินจำนวน 5,500 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์คืน หากผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยอมมอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหายที่ 1 จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน โดยจำเลยจะนำโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวไปขายให้แก่ผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ผู้ถูกข่มขืนใจเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของตนเองโดยจะไม่ได้รับโทรศัพท์ดังกล่าวคืนมา ผู้เสียหายที่ 1 จึงยอมที่จะมอบเงินจำนวน 5,500 บาท ให้แก่จำเลยตามที่ถูกจำเลยขู่เข็ญข่มขืนใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 337, 357, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเงินรวม 3,400 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรและกรรโชก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 357 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกรรโชกจำคุก 2 ปี ฐานรับของโจรจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์และส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเงิน 3,400 บาท ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 18 ปีเศษ ลดมาตรส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดฐานกรรโชก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยมีความผิดฐานกรรโชกหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้บังอาจกรรโชกทรัพย์โดยขู่เข็ญข่มขืนใจนางสาวสิรินุช คุรุเมธากร ผู้เสียหายที่ 1 ให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินจำนวน 5,500 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยโดยจำเลยขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ว่า จะทำอันตรายแก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ 1 ที่ถูกลักเอาไป หากผู้เสียหายที่ 1 ต้องการโทรศัพท์คืนให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงิน 5,500 บาท ไปมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าไถ่โทรศัพท์ หากไม่ยอมมอบเงินจำนวนดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนโดยจำเลยจะนำโทรศัพท์ไปขายให้แก่ผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของตน จึงยอมจะมอบเงินจำนวน 5,500 บาท ให้แก่จำเลยตามที่ถูกจำเลยขู่เข็ญ จำเลยให้การรับสารภาพทั้งข้อหารับของโจรและข้อหากรรโชก เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ… จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น… จากข้อเท็จจริงที่จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินจำนวน 5,500 บาท มามอบให้เป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และหากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 ไปซึ่งทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงินจำนวน 5,500 บาท ไปให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน รวมโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.