แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เหตุเกิดรถชนกันผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่บ้าง ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยมาโดยไม่ชอบจำเลยก็ฎีกาไม่ได้ เนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกฎีกาของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ม – 0681 บุรีรัมย์ ไปตามถนนสายโชคชัย – เดชอุดม โดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ จำเลยขับรถมุ่งหน้าไปทางด้านอำเภอประโคนชัยมาถึงตรงบริเวณสามแยกและประสงค์จะเลี้ยวกลับรถตรงบริเวณสามแยกที่ไม่อนุญาตให้เลี้ยวกลับรถได้ แต่ต้องขับรถข้ามทางสามแยกไปก่อน เพื่อไปกลับรถตรงจุดที่มีป้ายสัญญาณจราจรอนุญาตให้เลี้ยวกลับรถได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ โดยจำเลยเลี้ยวกลับรถตรงบริเวณสามแยกดังกล่าวในทันทีทันใดและไม่ได้ตรวจดูก่อนว่ามีรถผู้อื่นขับสวนทางมาในระยะกระชั้นชิดหรือไม่ เป็นเหตุให้นายปิยพงษ์หรือปิยะพงษ์ ทบวงศรี ซึ่งขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาถึงบริเวณสามแยกพุ่งเข้าชนรถกระบะของจำเลยอย่างรุนแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นายปิยพงษ์หรือปิยะพงษ์ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 159
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายหนุน ทะบวงศรี และนางชิน ทะบวงศรี บิดาและมารดาของนายปิยพงษ์หรือปิยะพงษ์ ทะบวงศรี ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 3 ปี และปรับ 18,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุก ไม่ปรับจำเลย คงจำคุกจำเลย 2 ปี เพียงสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า เหตุเกิดรถชนกันนั้นผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่บ้างโดยการขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงผ่านสามแยกและก่อนเกิดเหตุได้ดื่มสุรา เมื่อผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบุพการีผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5 (2) โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ดังนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยมาโดยไม่ชอบ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฎีกาของจำเลย และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง.