คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14823/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาครั้งหนึ่งแล้วอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ย. ที่โจทก์และทายาทของ ย. เป็นเจ้าของรวมอยู่โดยขอให้ลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำเดียวกันอีก แม้คำฟ้องทั้งสองคดีจะบรรยายไม่ตรงกันทุกตอน และบทมาตราที่ขอให้ลงโทษแตกต่างกันบางมาตรา แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำอันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีแรก มิใช่ถือเอาคำบรรยายฟ้องหรือฐานความผิดที่โจทก์ตั้งเอาแก่จำเลยเป็นเกณฑ์มิฉะนั้นแล้วจำเลยกระทำผิดเพียงครั้งเดียว โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยได้หลายครั้งโดยไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 36 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267, 268, 334, 335 (7), 349, 352, 353, 354 และ 357
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลในข้อหาลักทรัพย์ ยักยอก รับของโจรและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร (ที่ถูก และความผิดต่อเจ้าพนักงาน) เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาโกงเจ้าหนี้สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้ยกฟ้องทุกข้อหา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า วันที่ 26 ตุลาคม 2484 นายหงึ่นกับนางยาจิตร จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นายพนมพันธ์ นายพนาผล โจทก์คดีนี้และนายศิริชล วันที่ 27 ธันวาคม 2493 นายหงึ่นกับนางยาจิตรจดทะเบียนหย่า วันที่ 5 กันยายน 2521 นางยาจิตรตาย ก่อนตายนางยาจิตรมีชื่อเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 3, 212 และ 930 หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นางยาจิตรมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 5 คน คือ บุตรทั้งสี่ และนางลิ้นจี่ มารดาของนางยาจิตร วันที่ 31 ธันวาคม 2524 นายพนาผลตายมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 4 คน คือ นายหงึ่น จำเลยที่ 1 เด็กชายพรอนันต์และเด็กหญิงอัสมาซึ่งเป็นภริยาและบุตรของนายพนาผล วันที่ 24 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่งและโจทก์คดีนี้กับพวกอีกฝ่ายหนึ่งทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับส่วนแบ่งในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 3, 212 และ 930 วันที่ 22 สิงหาคม 2531 นายพนมพันธ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลิ้นจี่ นายหงึ่น นายพนมพันธ์ในฐานะส่วนตัว และนายศิริชล ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ต่อมาศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 3, 212 และ 930 เป็นทรัพย์มรดกของนางยาจิตร ซึ่งนางลิ้นจี่ นายหงึ่น นายพนมพันธ์ นายพนาผล โจทก์คดีนี้ และนายศิริชลมีส่วนเป็นเจ้าของ แต่นายหงึ่น นายพนมพันธ์ในฐานะส่วนตัว และนายศิริชลฟ้องจำเลยที่ 1 ซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 438/2531 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินให้นายพนมพันธ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลิ้นจี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 3, 212 และ 930 ให้นายพนมพันธ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลิ้นจี่ จำนวน 1 ใน 5 ส่วนของร้อยละ 70 ของที่ดินดังกล่าว ให้ยกฟ้องนายหงึ่น นายพนมพันธ์ในฐานะส่วนตัว และนายศิริชล โดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8252/2538 จำเลยที่ 1 ได้วางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว
ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพนาผลเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 3 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 2478, 2479 และ 2480 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 212 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 2477 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3) เลขที่ 930 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 5977, 5978, 6292 และ 6874 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 2477 และ 2478 ให้แก่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 6292 ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 6874 ให้แก่จำเลยที่ 4 และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) เลขที่ 2479, 2480 และ 5978 ให้แก่จำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 นายไพศาล ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหงึ่น นายพนมพันธ์ โจทก์คดีนี้และนายศิริชลร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางยาจิตรที่โจทก์และทายาทของนางยาจิตรเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 วันที่ 4 พฤษภาคม 2547 และวันที่ 12 เมษายน 2548 อันเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ และได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง และมีคำสั่งจำหน่ายคดี ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 756/2549 ที่นำมาผูกพ่วง ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเคยเป็นโจทก์ที่ 3 ในคดีก่อนได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยบรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดิน อันเป็นทรัพย์มรดกของนางยาจิตรที่โจทก์และทายาทของนางยาจิตรเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 วันที่ 4 พฤษภาคม 2547 วันที่ 12 เมษายน 2548 และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนขายที่ดินต่อให้จำเลยที่ 5 อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก รับของโจร โกงเจ้าหนี้ และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร พิเคราะห์แล้ว โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาครั้งหนึ่งแล้วอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางยาจิตรที่โจทก์และทายาทของนางยาจิตรเป็นเจ้าของรวมอยู่โดยขอให้ลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำเดียวกันอีก แม้คำฟ้องทั้งสองคดีจะบรรยายไม่ตรงกันทุกตอน และบทมาตราที่ขอให้ลงโทษแตกต่างกันบางมาตรา แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำอันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีแรก มิใช่ถือเอาคำบรรยายฟ้องหรือฐานความผิดที่โจทก์ตั้งเอาแก่จำเลยเป็นเกณฑ์ มิฉะนั้นแล้วจำเลยกระทำผิดเพียงครั้งเดียว โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยได้หลายครั้งโดยไม่รู้จักจบสิ้น จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share