คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ให้แก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยทราบโดยชอบแล้วอันเป็นการปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ในการรับเงินจากจำเลยจึงตกเป็นของโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่นั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากจำเลยอีกต่อไป การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายฯ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ภายหลังการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วซึ่งไม่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่เหตุที่จะให้ถือว่าไม่ได้เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน
โจทก์ที่ 1 ส่งมอบม้วนเทปตามสำเนาใบส่งของในวันสุดท้ายของสัญญาซื้อขายฯ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้วและกำหนดวิธีการตรวจรับขึ้นโดยไม่ให้ใช้ม้วนเทปที่ส่งมอบมาทำการตรวจรับและทดลองเพื่อถ่วงเวลาออกไปให้มีเวลาในการสร้างอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ที่ใช้งานได้ผลตามความมุ่งหมายของสัญญาซื้อขายฯ ที่โจทก์ที่ 1 นำม้วนซอฟแวร์หลายม้วนมาทดสอบหลายครั้งเป็นเวลากว่า 1 ปี ทำให้เชื่อว่าม้วนซอฟแวร์เหล่านั้นไม่ได้อัดสำเนามาจากม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบให้แก่จำเลยและการที่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมดำเนินการเพื่อให้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้แก่จำเลยนั้นได้บรรจุข้อมูลรายการซอฟแวร์ที่สามารถสั่งการให้ระบบชุมสายเทเล็กซ์ทั้งหมดทำงานได้ตามสัญญาซื้อขายฯ ทำให้เชื่อว่าม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้แก่จำเลยนั้นไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้สมความมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการตามสัญญาซื้อขายฯ โจทก์ที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
สัญญาซื้อขายฯ ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายฯไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลา จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดเวลาตามสัญญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้โจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันโจทก์ที่ 1 ต่อจำเลยชำระหนี้ได้แต่นั้นตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่จำเลยอาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่โจทก์ที่ 2 ได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันต่อจำเลย

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังเป็นจำเลย
คดีสำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ยังค้างอยู่ในงวดที่สองและงวดที่สามตามสัญญาเป็นเงิน 15,415,909.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 9,248,945.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น24,663,855.20 บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงิน 15,414,909.50 บาทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินค่างานล่วงหน้าของโจทก์ที่ 2 เลขที่ สว.ค.ส.183/2526 ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2526จำนวนเงิน 30,145,115.80 บาท และใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน3,564,831.98 บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าได้ส่งมอบอุปกรณ์และอะไหล่ของชุมสายเทเล็กซ์พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆตามสัญญา และจำเลยได้ตรวจจำนวนสิ่งของที่ส่งมอบในแต่ละงวดกับตรวจสอบความถูกต้องแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินงวดที่สองและงวดที่สามอีกจำนวน 15,414,909.50 บาท และไม่คืนหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินค่างานล่วงหน้าของโจทก์ที่ 2 นั้น ไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วจำเลยยังไม่สามารถตรวจสอบจำนวนสิ่งของที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบและยังไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของงานที่ติดตั้งในงวดที่สองและงวดที่สาม เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบจำนวนของที่ส่งมอบและการติดตั้งของงานซึ่งเกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 ที่ไม่สามารถแสดงจำนวนสิ่งของที่ส่งมอบและติดตั้ง โจทก์ที่ 1 ส่งมอบอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ (SOFTWARE)เป็นม้วนเทป 1 ม้วน แก่จำเลยและอ้างว่าเป็นอุปกรณ์ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาข้อ 1 รายการที่ 1.2 มูลค่า 34,232,553 บาท โจทก์ที่ 1ไม่แสดงหรือนำซอฟแวร์ม้วนดังกล่าวใส่เข้าไปในชุมสายเทเล็กซ์และไม่ทำการทดสอบให้เห็นว่าซอฟแวร์ม้วนดังกล่าวมีรายการซอฟแวร์บรรจุอยู่จริงและมีรายการโปรแกรมครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์ที่ 1 จำเลยได้รับอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ในวันที่ 2และ 3 กรกฎาคม 2528 ทั้ง ๆ ที่สัญญาซื้อขายกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ดำเนินงานล่าช้าและเป็นฝ่ายผิดสัญญา เหตุที่จำเลยไม่คืนหนังสือค้ำประกันของโจทก์ที่ 2เนื่องจากจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ในงวดที่หนึ่งจำนวน33,861,686.80 บาท ล่วงหน้าไปทันทีโดยโจทก์ที่ 1 ยังไม่ดำเนินการส่งมอบสิ่งของใด ๆ และตามข้อตกลงในสัญญากำหนดให้โจทก์ที่ 1ต้องมีหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าของโจทก์ที่ 2 มามอบให้จำเลยทันทีเพื่อประกันการผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด เมื่อโจทก์ที่ 1ส่งมอบสิ่งของและติดตั้งอุปกรณ์โดยไม่สามารถตรวจจำนวนสิ่งของที่ส่งมอบและติดตั้งไม่แล้วเสร็จ โจทก์ที่ 1 ส่งมอบสิ่งของในวันสิ้นสุดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิที่จะไม่คืนหนังสือค้ำประกันให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา ทั้งนี้เพื่อระงับความเสียหายที่จะพึงตกแก่จำเลยสำหรับเรื่องดอกเบี้ย เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 1 ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้นเมื่อจำเลยมีสิทธิที่จะไม่คืนหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าของโจทก์ที่ 2 จำเลยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย และค่าธรรมเนียมของโจทก์ที่ 2 ที่โจทก์ที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 จะต้องเป็นฝ่ายจัดหาตระเตรียมฝ่ายเดียวตามสัญญาอยู่แล้วความเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยและโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
คดีสำนวนหลังจำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญา โดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์แก่จำเลยหากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ให้โจทก์ที่ 1รื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไปและคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน 88,529,506.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จกับใช้ค่าเสียหายจำนวน 6,740,975,355.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าปรับตามสัญญาจำนวน 825,983,754 บาท และค่าปรับวันละ 226,483.07 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ขนาด5,000 เลขหมาย พร้อมติดตั้งในระบบสมบูรณ์ในสภาพที่สามารถใช้งานได้แก่จำเลยตามสัญญาหรือจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ และชำระเงินค้ำประกันสัญญาจำนวน 14,833,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จกับให้โจทก์ที่ 2ชำระเงินจำนวน 15,162,896.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีในต้นเงินจำนวน 14,833,710 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 จะชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยฟ้องของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความเพราะสัญญาค้ำประกันทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 จำเลยฟ้องให้โจทก์ที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เกินกว่า 10 ปี โจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมายพร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์แก่จำเลย หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไป และคืนเงินที่ได้รับไปแล้วจำนวน88,529,506.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 18,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 2 ร่วมชำระหนี้ของโจทก์ที่ 1จำนวน 14,833,710 บาท ในฐานะผู้ค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 มีนาคม2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองสำนวน ส่วนโจทก์ที่ 2 ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนที่สองร่วมกับโจทก์ที่ 1 แทนจำเลย โดยให้โจทก์ที่ 1 รับผิดค่าทนายความสำนวนแรกจำนวน 50,000 บาท และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในสำนวนหลังจำนวน 50,000 บาทคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน15,414,909.50 บาท ตามสัญญางวดที่สองและงวดที่สามกับดอกเบี้ยจำนวน 9,248,945.70 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 15,414,909.50 บาท นับแต่วันฟ้องสำนวนแรกเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมายพร้อมการติดตั้งในระบบที่เรียบร้อยสมบูรณ์แก่จำเลยและรับเงินส่วนที่เหลือตามสัญญา หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ให้โจทก์ที่ 1 คืนเงินค่าอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ จำนวน88,529,506.70 บาท รวมทั้งเงินตามสัญญางวดที่สองและงวดที่สามหากรับไปแล้วให้แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือนับจากวันรับเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยพร้อมกับให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอนอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ที่โจทก์ที่ 1 ติดตั้งไว้ในอาคารของจำเลยออกไปทั้งหมด กับให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องสำนวนหลังจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยและให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 18,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 จนกว่าจะชำระแก่จำเลยให้โจทก์ที่ 2 ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ชำระเงินจำนวน 14,833,710 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 17มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอนอกจากนี้ของโจทก์ที่ 1และจำเลยให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในสำนวนแรกแทนโจทก์ที่ 1 กำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยในสำนวนหลังตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ กำหนดค่าทนายความให้50,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 โจทก์ที่ 1 และจำเลยทำสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมายพร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรมและการติดตั้ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น148,337,062 บาท กำหนดส่งมอบของตามสัญญาให้แก่จำเลยณ กองเทเล็กซ์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 สำหรับการจ่ายเงินค่าสิ่งของพร้อมการติดตั้งตามสัญญากำหนดไว้ รายการข้อ 1.7 และ 1.8 จ่ายให้เต็มตามราคาแต่ละส่วนเมื่อโจทก์ที่ 1 ดำเนินการและแต่ละส่วนตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยทุกประการแล้ว สำหรับรายการอื่นส่วนที่เหลือแบ่งจ่ายเป็นสี่งวดงวดที่หนึ่งจ่ายให้ล่วงหน้าภายใน 30 วัน หลังจากโจทก์ที่ 1 และจำเลยลงนามในสัญญาจำนวนเงิน 33,861,686.80 บาท งวดที่สองจ่ายให้เป็นเงินจำนวนร้อยละ 25 ของราคาสิ่งของที่ส่งมอบในแต่ละงวดและจำเลยตรวจจำนวนของที่ส่งมอบในแต่ละงวดเป็นที่เรียบร้อยแล้วงวดที่สามจ่ายให้เป็นเงินจำนวนร้อยละ 25 ของราคาของในแต่ละส่วนเมื่องานติดตั้งและปรับปรุงสถานที่ในแต่ละส่วนแล้วเสร็จตามสัญญาและจำเลยได้ตรวจสอบถูกต้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งวดที่สี่จ่ายให้ในส่วนที่เหลือทั้งหมดเมื่อจำเลยตรวจรับทดลองเป็นที่เรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาทุกประการและจำเลยรับไว้ใช้งานแล้วตามสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ ขนาด 5,000 เลขหมาย พร้อมการติดตั้งโจทก์ที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการรับเงินค่างานล่วงหน้าของโจทก์ที่ 1 ในวงเงิน 30,145,115.80 บาท ภายหลังทำสัญญา โจทก์ที่ 1ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาซื้อขายฯ จากจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินและได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวถึงจำเลยแล้วตามหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงิน จำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1ตามสัญญาหลายครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,529,506.70 บาท ปรากฏรายละเอียดตามบัญชีใบเสร็จรับเงิน จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินงวดที่สองและงวดที่สามรวมจำนวน 15,414,909.50 บาท ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ที่ 1 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องรายละเอียดตามสัญญาซื้อขายฯ และบรรยายฟ้องต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงลดราคาและยกเลิกอุปกรณ์ที่ซื้อขายบางส่วนเป็นเงิน 3,125,226.42 บาท วงเงินตามสัญญาซื้อขายจึงลดลงเหลือ 145,211,835.58 บาท ดังนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายเงินงวดที่สองจำนวน 32,315,020.47 บาท งวดที่สามจำนวน 33,064,237.47 บาทรวมงวดที่สองและงวดที่สามจำนวน 65,379,257.94 บาท โจทก์ที่ 1ส่งอุปกรณ์และอะไหล่ของชุมสายเทเล็กซ์ที่ซื้อขาย ติดตั้งอุปกรณ์จัดเตรียมสถานที่และติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศให้แก่จำเลย และจำเลยได้ตรวจรับถูกต้องแล้ว จำเลยจ่ายเงินงวดที่สองให้แก่โจทก์ที่ 1จำนวน 24,982,565.72 บาท ยังขาดอยู่อีก 7,332,454.75 บาทงวดที่สามจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 24,981,782.72 บาทยังขาดอยู่อีก 8,082,454.75 บาท รวมจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ที่ 1 ในงวดที่สองและงวดที่สามอีก 15,414,909.50 บาทโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์ที่ 1 คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนรายละเอียดสิ่งของที่จะต้องส่งมอบและจำเลยไม่ชำระค่าอุปกรณ์สิ่งของรายการใดเป็นรายการที่โจทก์ที่ 1จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาทั้งจำเลยมีเอกสารหลักฐานการตรวจรับอยู่ในความครอบครองที่สามารถตรวจสอบได้ และจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระในแต่ละงวด โจทก์ได้กล่าวบรรยายที่มาโดยชัดแจ้งแล้วฟ้องโจทก์ที่ 1 ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์ที่ 1มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างงวดที่สองและงวดที่สามที่อ้างว่าจำเลยยังคงค้างชำระอยู่จำนวน 15,414,909.50 บาท ได้หรือไม่จำเลยมีนายวีรวัฒน์ พัฒนภักดี ผู้อำนวยการกองจัดหาของจำเลยเบิกความประกอบเอกสารสรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2526 โจทก์ที่ 1ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายชุมสายเทเล็กซ์ขนาด 5000 หมายเลข พร้อมการติดตั้ง จำนวนเงิน 148,337,062บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินโดยโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินไปให้จำเลยทราบแล้ว และจำเลยได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ที่ 2 ว่าได้รับทราบแล้วและยินยอมให้มีการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ เหตุที่มีการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ไปนั้น อาจเนื่องจากความพลั้งเผลอของเจ้าหน้าที่ เพราะมีสำเนาเอกสารเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินแจ้งให้แก่กองการเงินเป็นจำนวนมากและก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 และความคุ้นเคยระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินกับผู้รับเงินของโจทก์ที่ 1 คือ นายสนอง สง่าศิลปประกอบกับโจทก์ที่ 1 มีการติดต่อค้าขายกับจำเลยมาตลอดและมีหลายสัญญาด้วย ภายหลังจากที่นายวีรวัฒน์ตรวจพบการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1แล้ว ทางจำเลยก็ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายฯให้แก่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยทราบโดยชอบแล้ว อันเป็นการปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 บัญญัติไว้แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1ในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายฯ จึงตกเป็นของโจทก์ที่ 2ตั้งแต่นั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากจำเลยอีกต่อไปการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้จ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายฯ ให้แก่โจทก์ที่ 1ภายหลังการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วซึ่งไม่ถูกต้องนั้นไม่ใช่เหตุที่จะให้ถือว่าไม่ได้เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้นโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินงวดที่สองและงวดที่สามจำนวน 15,414,909.50 บาท ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องชำระเงินงวดที่สองและงวดที่สามจำนวน 15,414,909.50 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 เพราะยังไม่มีการตรวจสอบม้วนเทปซอฟแวร์ที่ส่งมอบและยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ในงานงวดที่ 3 เลยอีก
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ที่ 1 หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามสัญญาซื้อขายฯและข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันเป็นยุติแล้วว่า สัญญาซื้อขายฯมิได้กำหนดวิธีการตรวจรับไว้ชัดแจ้ง แต่กำหนดให้ผู้ขาย (โจทก์ที่ 1)มีหน้าที่เสนอวิธีการตรวจรับให้ผู้ซื้อ (จำเลย) ให้ความเห็นชอบก่อนจำเลยมีสิทธิและหน้าที่เพียงพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบกับวิธีการที่โจทก์ที่ 1 เสนอหรือไม่เท่านั้น ในเบื้องต้นโจทก์ที่ 1 และจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดในสัญญาโดยฝ่ายจำเลยได้ให้คณะกรรมการตรวจรับดำเนินการตรวจรับตามวิธีการที่โจทก์ที่ 1เสนอตามเอกสารหมาย จ.12 และจำเลยได้ให้ความเห็นชอบให้โจทก์ใช้เอกสารการตรวจรับ SOFTWARE SAT Schedule Ref330/UG/30474/002 Issue 1 ตามเอกสารหมาย จ.14 การตรวจรับตามวิธีการของโจทก์ที่ 1 เป็นการตรวจรับและทดลองโดยการนำม้วนเทปซอฟแวร์ใส่เข้าไปในเครื่องฮาร์ดแวร์เพื่อทำการตรวจทดสอบทีละหัวข้อตามลำดับจำนวน 1,293 หัวข้อ โดยการใช้สำเนาม้วนเทปมาทำการตรวจรับและทดลอง เพราะหากนำเอาม้วนเทปจริงซึ่งมีเพียงม้วนเดียวมาใส่ในเครื่องฮาร์ดแวร์เพื่อทำการตรวจรับและทดลองในขณะที่ยังไม่สามารถตรวจสอบทั้งระบบนั้นอาจจะเกิดความเสียหายกับม้วนเทปดังกล่าวได้ โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเกี่ยวกับเรื่องการตรวจรับด้วยดีตลอดมา ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะจำเลยไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาโดยในระหว่างการตรวจรับตามวิธีการที่โจทก์ที่ 1เสนอ คณะกรรมการตรวจรับของจำเลยกลับให้โจทก์ที่ 1 ใช้วิธีการตรวจรับตามข้อเสนอของฝ่ายจำเลยเอง ให้โจทก์ที่ 1 นำอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ฉบับที่แท้จริงเข้าทำการทดสอบกับอุปกรณ์ชุมสายฮาร์ดแวร์โดยตรงเมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยก็หยุดการตรวจรับโดยยกเหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างทั้งที่ไม่มีข้อกำหนดใด ๆ ในสัญญาให้อำนาจจำเลยกระทำได้ การที่จำเลยไม่ยอมทำการตรวจรับต่อไปตามวิธีการที่โจทก์ที่ 1เสนอให้เสร็จสิ้น เมื่อเหลือหัวข้อการตรวจรับเพียง 185 หัวข้อ จึงทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ หลังจากการตรวจรับให้เสร็จสิ้นตามสัญญาต่อไปได้ จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นเห็นว่า ปัญหานี้ตามสัญญาซื้อขายฯ เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 ระบุว่า”ข้อ 1 ผู้ซื้อตกลงซื้อ และผู้ขายตกลงขายชุมสายเทเล็กซ์ขนาด 5,000เลขหมาย รุ่น 8660 พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ ฝึกอบรม และการติดตั้งในระบบ TURN – KEY SYSTEM อันเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทPLESSEY CONTROLS LIMITED แห่งประเทศอังกฤษ มีคุณสมบัติและรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2.1 ดังมีรายการ จำนวนและราคา ต่อไปนี้
1.1 อุปกรณ์ชุมสาย HARDWARE 57,938,131 บาท
1.2 อุปกรณ์ชุมสาย SOFTWARE 34,232,553 บาท
ข้อ 3 ผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาพร้อมการติดตั้งในระบบสมบูรณ์ให้แก่ผู้ซื้อ ณ กองเทเล็กซ์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 แห่งสัญญานี้ ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้ผลสมความมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการ พร้อมทั้งหีบห่อเครื่องรัดพันผูกตามสภาพโดยเรียบร้อย ยกเว้นรายการที่ 1.8 (POST CUT – OVERSUPPORT) ผู้ขายจะต้องดำเนินการภายหลังจากที่ผู้ซื้อได้ดำเนินการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การส่งสิ่งของตามสัญญานี้สำหรับรายการที่ 1.1, 1.2, 1.3, 1.9,1.10 และ 1.11 ผู้ขายจะต้องแจ้งวันที่จะส่งของที่แน่นอน โดยทำเป็นหนังสือนำไปยื่นต่อผู้ซื้อ ณ กองทรัพย์สินและพัสดุ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ในเวลาปฏิบัติงานให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน
สำหรับการส่งมอบสิ่งของพร้อมการติดตั้งตามสัญญานี้ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเพียงครั้งเดียวหรือส่งมอบหลายครั้ง ผู้ขายจะต้องแจ้งกำหนดเวลาส่งมอบแต่ละครั้งโดยทำเป็นหนังสือนำไปยื่นต่อผู้ซื้อ ณ กองทรัพย์สินและพัสดุ การสื่อสารแห่งประเทศไทยในเวลาปฏิบัติงาน
“เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาพร้อมการติดตั้ง ในระบบสมบูรณ์ให้แก่จำเลย ณ กองเทเล็กซ์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้ผลสมควรมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการ ยกเว้นรายการที่ 1.8 (POST CUT – OVER) เพียงรายการเดียวที่โจทก์ที่ 1 จะต้องดำเนินการภายหลังจากที่จำเลยได้ดำเนินการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการส่งสิ่งของตามสัญญานี้สำหรับรายการที่ 1.2 ซึ่งเป็นรายการอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ที่เป็นปัญหาโต้เถียงกันนี้ โจทก์ที่ 1 จะต้องแจ้งวันที่จะส่งของที่แน่นอน โดยทำเป็นหนังสือนำไปยื่นต่อจำเลย ณกองทรัพย์สินและพัสดุ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ในเวลาปฏิบัติงานให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ตามสำเนาใบส่งของโจทก์ที่ 1ส่งมอบอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของจำเลยลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาพร้อมการติดตั้ง ในระบบสมบูรณ์ให้แก่จำเลย โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือแจ้งวันที่จะส่งของที่แน่นอนให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยรับอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ไว้จากโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นเพียงรับสิ่งที่โจทก์ที่ 1 นำมาส่งให้เท่านั้น การส่งอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 เป็นการส่งมอบสิ่งของที่ยังไม่มีการติดตั้งในระบบสมบูรณ์ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้ผลสมความมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการ ตามสัญญาซื้อขายฯ ที่โจทก์ที่ 1อ้างว่าเหตุที่ไม่ใส่อุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ฉบับที่แท้จริงเข้าไปในเครื่องฮาร์ดแวร์เพราะอาจจะเกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ฉบับที่แท้จริง และตามสัญญาซื้อขายฯ มิได้กำหนดวิธีการตรวจรับไว้ชัดแจ้ง แต่กำหนดให้โจทก์ที่ 1 ผู้ขายมีหน้าที่เสนอวิธีการตรวจรับให้จำเลยผู้ซื้อให้ความเห็นชอบก่อนนั้น ก็ปรากฏว่าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำสำเนาม้วนเทปซอฟแวร์ใส่เข้าไปในเครื่องฮาร์ดแวร์เพื่อให้ชุมสายเทเล็กซ์ตามสัญญาซื้อขายฯอยู่ในระบบสมบูรณ์ ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้ผลสมความมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการ ทั้งโจทก์ที่ 1 ก็ไม่เคยส่งมอบสำเนาม้วนเทปซอฟแวร์ที่อ้างว่าอัดสำเนามาจากต้นฉบับม้วนเทปซอฟแวร์ที่ส่งมอบให้แก่จำเลยไว้แล้วให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 1 เพิ่งนำม้วนเทปซอฟแวร์ที่อ้างว่าอัดสำเนามาจากต้นฉบับม้วนเทปซอฟแวร์ที่ส่งมอบให้แก่จำเลยมาใส่เครื่องฮาร์ดแวร์เพื่อตรวจนับรายการซอฟแวร์เมื่อวันที่ 2ถึง 4 ธันวาคม2528 โดยไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสำเนาม้วนเทปซอฟแวร์ที่ใช้ตรวจนับดังกล่าวอัดสำเนามาจากม้วนเทปซอฟแวร์ที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบให้แก่จำเลย และได้ความจากนายโอภาศ พงษ์ปรีชา ผู้อำนวยการฝ่ายโทรคมนาคมภูมิภาค 2 ของจำเลยพยานจำเลยว่า พยานเป็นผู้เก็บรักษาม้วนเทปซอฟแวร์ที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบแก่จำเลย โจทก์ที่ 1 เคยเบิกม้วนเทปซอฟแวร์ไปจากพยานเป็นเวลา 2 ถึง 3 วัน ประกอบกับภายหลังจากทำสัญญาซื้อขายฯ ผ่านไป 1 ปีกว่า โจทก์ที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน2527 ถึงผู้ว่าการของจำเลยขออนุมัติเปลี่ยนแปลงกำหนดส่งมอบตามสัญญาโดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งจากบริษัท PCL ว่า ได้ตรวจพบข้อบกพร่องในการทำงานของอุปกรณ์ส่วนของ BUS HARDWARE ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของระบบการทำงานจะต้องแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องทั้งในด้านHARDWARE และ SOFTWARE ในส่วนที่เกี่ยวข้องอันจะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบเทเล็กซ์โดยส่วนรวมด้วย บริษัท PCL คาดการณ์ว่าเมื่อมีการปรับปรุงออกแบบ HARDWARE และ SOFTWARE ของอุปกรณ์BUS HARDWARE นี้แล้วการตรวจสอบทดลองชุมสายทั้งระบบจะต้องเกิดความล่าช้าขึ้นทั้งหมดอีกประมาณ 12 เดือน โจทก์ที่ 1 ขอความเห็นใจจากจำเลยให้เลื่อนกำหนดส่งมอบอุปกรณ์ตามที่สั่งซื้อในสัญญาล่าช้าออกไป 12 เดือน โดยไม่ถือความผิดและมีค่าปรับแต่อย่างใด จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 31 ตุลาคม 2527 ถึงโจทก์ที่ 1 ยืนยันให้โจทก์ที่ 1จัดส่งอุปกรณ์ชุมสายเทเล็กซ์ 5000 เลขหมายแก่จำเลยภายในกำหนดสัญญาเดิมทั้งภายหลังจากครบกำหนดเวลาส่งมอบสิ่งของตามสัญญาซื้อขายฯ แล้ว ก็ได้มีการใช้สำเนาม้วนเทปซอฟแวร์ที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าอัดสำเนามาจากต้นฉบับม้วนเทปซอฟแวร์ที่ส่งมอบแก่จำเลยมาทำการตรวจนับรายการซอฟแวร์หลายครั้ง ในการตรวจรับครั้งที่ 38 คณะกรรมการตรวจรับได้ทำรายงานผลการตรวจรับฯ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2529 ตามสำเนาเอกสารหมาย ล.53/5 สรุปได้ว่า การทดสอบมีปัญหาอยู่หลายข้อและในระหว่างการตรวจรับทางฝ่ายโจทก์ที่ 1 ใช้เทป 3 ม้วนซึ่งไม่เหมือนกันมาดำเนินการ และวันที่ 26 สิงหาคม 2529 คณะกรรมการตรวจรับของจำเลยได้ทำรายงานผลการตรวจรับฯ (ครั้งที่ 43) ตามสำเนาเอกสารหมาย ล.53/7 ว่า การดำเนินการทดสอบในวันที่ 18 สิงหาคม 2529 โจทก์ที่ 1 นำเทปมาใช้เพิ่มเติม 2 ม้วน และการทดสอบในวันที่ 20 สิงหาคม 2529 ได้นำเทปมาใช้ทำการทดสอบเพิ่มอีก 3 ม้วนและวันที่ 27 มีนาคม 2532 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1พิสูจน์ม้วนเทปที่ส่งมอบว่า ภายในเทปม้วนนั้นได้บรรจุซอฟแวร์ที่สามารถสั่งการให้ระบบชุมสายเทเล็กซ์ทั้งหมดทำงานได้ตามสัญญาซื้อขายฯในวันที่ 5 เมษายน 2532 เวลา 10 นาฬิกา แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมตรวจพิสูจน์ม้วนเทปดังกล่าว ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 จำเลยได้มีหนังสือนัดหมายพิสูจน์ม้วนเทปที่ส่งมอบไว้ แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้จัดส่งผู้แทนเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการทดสอบม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้ โดยจะทำการทดสอบในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไปณ ชุมสายเทเล็กซ์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 1 ทราบแล้วไม่ไปตามที่จำเลยนัดและจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการใส่ม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้เข้าไปในเครื่องฮาร์ดแวร์พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1 ส่งมอบม้วนเทปตามสำเนาใบส่งของเอกสารหมาย จ.8 ในวันสุดท้ายของสัญญาซื้อขายฯเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้ว และกำหนดวิธีการตรวจรับขึ้นโดยไม่ให้ใช้ม้วนเทปที่ส่งมอบมาทำการตรวจรับและทดลองเพื่อถ่วงเวลาออกไปให้มีเวลาในการสร้างอุปกรณ์ชุมสายซอฟแวร์ที่ใช้งานได้ผลตามความมุ่งหมายของสัญญาซื้อขายฯที่โจทก์ที่ 1 นำม้วนเทปซอฟแวร์หลายม้วนมาทดสอบหลายครั้งเป็นเวลากว่า 1 ปี ทำให้เชื่อว่าม้วนเทปซอฟแวร์เหล่านั้นไม่ได้อัดสำเนามาจากม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบให้แก่จำเลยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 และการที่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมดำเนินการเพื่อให้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้แก่จำเลยนั้น ได้บรรจุข้อมูลรายการซอฟแวร์ที่สามารถสั่งการให้ระบบชุมสายเทเล็กซ์ทั้งหมดทำงานได้ตามสัญญาซื้อขายฯ ทำให้เชื่อว่าม้วนเทปที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบไว้แก่จำเลยนั้นไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ทันทีและได้ผลสมความมุ่งหมายเรียบร้อยทุกประการตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 3 โจทก์ที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปมีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ที่ 2 ร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ได้หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามสัญญาซื้อขายฯข้อ 9 วรรคสี่ ค่าปรับและค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 มี 2 ประการ ซึ่งต้องบอกเลิกสัญญาทั้งสิ้นจึงจะเรียกได้เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า จำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้โดยไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและการจัดซื้อไม่ได้ทำภายในกำหนด6 เดือน กับอุปกรณ์ที่จำเลยซื้อไม่ใช่ประเภทและรุ่นเดียวกับที่สั่งซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ดังนี้จึงไม่มีเงินจำนวนใด ๆ ที่โจทก์ที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1ตามสัญญา เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโจทก์ที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ที่ 1ต่อจำเลยเป็นเงินไม่เกิน 14,833,710 บาท หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าว ซึ่งจำเลยมีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ที่ 1 ได้แล้ว โจทก์ที่ 2 ย่อมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 ชำระก่อน ดังนั้นเมื่อโจทก์ที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายฯ แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกค่าปรับและค่าเสียหายตามสัญญาซื้อขายฯ ข้อ 9 และข้อ 10 ตามลำดับจากโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยจะมีสิทธิฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ได้หรือไม่ต้องพิจารณาเพียงว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัดแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686แม้จำเลยไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายฯ ต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตามฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

Share