คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14792/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตอบแทนจำเลย หาใช่ว่าจำเลยจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในเวลาใดตามอำเภอใจของจำเลยก็ได้ไม่ ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ว่า โจทก์ต้องชำระเงินในวันทำสัญญา 261,000 บาท ผ่อนชำระค่างวดรวม 15 งวด งวดละ 67,800 บาท ภายในทุกวันที่ 9 ของเดือน และชำระเงินงวดสุดท้าย 3,053,000 บาท ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว แสดงว่าโจทก์กับจำเลยตกลงชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและภายในกำหนดเวลาแน่นอน คือภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 โดยโจทก์จะต้องผ่อนชำระเงินค่าที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินที่ตกลงกัน และจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ส่วนจำเลยก็มีหน้าที่สร้างบ้านและดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้แล้วเสร็จชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เช่นกัน
เมื่อโจทก์ชำระค่างวดไม่ตรงตามสัญญา จำเลยก็ยอมรับชำระค่างวดแต่โดยดี แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนปรนไม่ถือเอาประโยชน์ของเงื่อนเวลาเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยแม้จะมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านและแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่ตามสำเนาใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ซึ่งล่วงเลยจากกำหนดเวลาจดทะเบียนโอนที่ดินเช่นเดียวกัน แสดงว่าก่อนหน้านั้นจำเลยก็ยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ทั้งยังปรากฏว่า ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 บ้านก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างผ่อนปรนให้แก่กันและกัน โดยต่างมิได้ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นสำคัญ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง มีข้อตกลงว่าเงินงวดสุดท้ายชำระภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 หรือเมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว และวรรคสาม มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายครบถ้วน และบ้านได้สร้างแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันโดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แน่นอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และกรณีนี้โจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน หากโจทก์หรือจำเลยจะให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้อีกฝ่ายชำระหนี้ ตามมาตรา 387
จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวด งวดที่ 13 ถึง 15 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2540 และมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามไปยังโจทก์นั้น จำเลยได้ก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้วเสร็จพร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ได้แล้ว การที่จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนแก่โจทก์นั้นหาได้ไม่ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านให้บุคคลภายนอกไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงิน 1,106,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บุคคลภายนอก จึงให้ตามที่โจทก์ขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,394,020.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,106,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงิน 1,106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 17 กรกฎาคม 2544) ต้องไม่เกิน 288,020.90 บาท ตามขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2537 โจทก์ทำสัญญาจองซื้อที่ดินแปลงหมายเลข ซี – 5 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านแบบลัดดาภรณ์ โครงการลัดดารมย์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ของจำเลยในราคา 4,361,000 บาท ตามหนังสือจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจองดังกล่าว ตกลงชำระเงินในวันทำสัญญา 261,000 บาท และผ่อนชำระค่างวดเป็นรายเดือน เดือนละ 67,800 บาท รวม 15 เดือน งวดแรกชำระวันที่ 9 มีนาคม 2538 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 9 ของเดือนจนครบ งวดสุดท้ายชำระ 3,053,000 บาท ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 หรือบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดที่ดินแล้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการลัดดารมย์ โจทก์ชำระเงินในวันทำสัญญาจอง ชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และชำระเงินค่างวดรวม 12 งวด แต่ไม่ได้ชำระค่างวดตรงตามสัญญา โจทก์ชำระค่างวดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ชำระเงินค่าต่อเติมบ้าน 1,400 บาท รวม 1,106,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน ส่วนค่างวดที่ 13 ถึงงวดที่ 15 โจทก์มิได้ชำระ ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2540 จำเลยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ 13 ถึง 15 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2540 หากไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือแจ้งทวงถามส่งไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ที่แจ้งไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ไม่มีผู้รับ ตามหนังสือแจ้งทวงถามและซองจดหมาย พร้อมใบตอบรับในประเทศ วันที่ 10 กันยายน 2540 จำเลยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับโจทก์ หนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาส่งไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ แต่ไม่มีผู้รับเช่นเดิม ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาและซองจดหมาย พร้อมใบตอบรับในประเทศ ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านแบบลัดดาภรณ์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ปรากฏว่า ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 จำเลยยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดิน เป็นโฉนดเลขที่ 207568 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี วันที่ 28 มกราคม 2541 จำเลยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทไปจดทะเบียนขายแก่บุคคลภายนอก ตามสำเนาโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาขายที่ดิน วันที่ 28 มิถุนายน 2544 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ตามหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและใบตอบรับในประเทศ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาทำนองว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการลัดดารมย์ เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ที่แน่นอน แต่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่างวดตรงตามกำหนด และจำเลยมีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย ถือว่าโจทก์ผิดนัด จำเลยจึงมีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตอบแทนจำเลย หาใช่ว่าจำเลยจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในเวลาใดตามอำเภอใจของจำเลยก็ได้ไม่ ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ว่า โจทก์ต้องชำระเงินในวันทำสัญญา 261,000 บาท ผ่อนชำระค่างวดรวม 15 งวด งวดละ 67,800 บาท ภายในทุกวันที่ 9 ของเดือน และชำระเงินงวดสุดท้าย 3,053,000 บาท ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว แสดงว่าโจทก์กับจำเลยตกลงชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและภายในกำหนดเวลาแน่นอน คือภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 โดยโจทก์จะต้องผ่อนชำระเงินค่าที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินที่ตกลงกัน และจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ส่วนจำเลยก็มีหน้าที่สร้างบ้านและดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้แล้วเสร็จชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เช่นกัน แต่กรณีนี้เมื่อโจทก์ชำระค่างวดไม่ตรงตามสัญญา จำเลยก็ยอมรับชำระค่างวดแต่โดยดี แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนปรนไม่ถือเอาประโยชน์ของเงื่อนเวลาเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยแม้จะมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านและแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่ตามสำเนาใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ซึ่งล่วงเลยจากกำหนดเวลาจดทะเบียนโอนที่ดินเช่นเดียวกัน แสดงว่าก่อนหน้านั้นจำเลยก็ยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ทั้งยังปรากฏว่า ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 บ้านก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างผ่อนปรนให้แก่กันและกัน โดยต่างมิได้ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นสำคัญ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง มีข้อตกลงว่าเงินงวดสุดท้ายชำระภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 หรือเมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว และวรรคสาม มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายครบถ้วน และบ้านได้สร้างแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันโดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แน่นอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และกรณีนี้โจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน หากโจทก์หรือจำเลยจะให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้อีกฝ่ายชำระหนี้ ตามมาตรา 387 แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยมีหนังสือตามแจ้งทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวด งวดที่ 13 ถึง 15 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2540 และมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามไปยังโจทก์นั้น จำเลยได้ก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้วเสร็จพร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ได้แล้ว การที่จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนแก่โจทก์นั้นหาได้ไม่ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านให้บุคคลภายนอกไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงิน 1,106,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บุคคลภายนอก จึงให้ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท

Share