คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกัน โจทก์จำเลยว่าจ้าง บ. ให้ปลูกสร้างตึกแถว 4 ชั้น บนที่ดินของทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้ตึกแถวส่วนของโจทก์อยู่บนที่ดินของโจทก์และตึกแถวส่วนของจำเลยอยู่บนที่ดินของจำเลยโดยให้ใช้คานคอดินกับผนังตึกซึ่งอยู่กึ่งกลางตามแนวเขตร่วมกันแต่เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จจึงรู้ว่าคานคอดินและผนังตึกที่ใช้ร่วมกันรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ1 ตารางวา เช่นนี้ เมื่อการก่อสร้างคลาดเคลื่อนทำให้คานคอดินที่เป็นแนวแบ่งแยกตึกรวมทั้งผนังตึกที่ตั้งอยู่บนคานคอดินซึ่งโจทก์จำเลยใช้ประโยชน์ร่วมกันรุกล้ำเข้าไปอยู่ในที่ดินของโจทก์แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากคานคอดินและผนังตึกด้วยก็จะถือว่าจำเลยมิได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์หาได้ไม่ หากแต่ต้องถือว่าจำเลยก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยโจทก์มิได้ยินยอม อันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในที่ดินแล้ว แม้ปรากฏว่าขณะทำการชี้แนวเขตวางผังและทำการก่อสร้างโจทก์จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นและควบคุมดูแล แต่ก็ไม่ทราบว่ามีการก่อสร้างคลาดเคลื่อนอันทำให้ตึกแถวของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จำเลยจะอ้างว่าการก่อสร้างรุกล้ำเกิดจากความผิดพลาดของโจทก์เองหาได้ไม่และจะถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้ เนื่องจากโจทก์จำเลยตกลงกันมาแต่ต้นเพียงว่าให้ตึกแถวของโจทก์และจำเลยตั้งอยู่บนที่ดินของแต่ละฝ่าย ทั้งจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะจำเลยก็มีหน้าที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยปลูกสร้างตึกแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริต จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้าไปให้แก่โจทก์ และมีสิทธิเรียกให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดแปลงเดียวกันคือโฉนดเลขที่ 49 ต่อมาปี 2522 ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยส่วนของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 25287 เนื้อที่ 41 ตารางวาอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จำเลยคงถือที่ดินโฉนดเดิมเนื้อที่39 ตารางวา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกัน เมื่อวันที่9 สิงหาคม 2527 จำเลยกับโจทก์ร่วมกันทำหนังสือสัญญาว่าจ้างช่างทำการก่อสร้างโรงเรือนเป็นตึกแถว 4 ชั้น ราคารวมทั้งสิ้น 1,420,000บาท โดยแบ่งตึกแถวกันคนละครึ่ง ก่อนจะให้ช่างลงมือก่อสร้างจะต้องวางหลักปักผังและตรวจสอบหลักเขตโฉนดที่ดินของจำเลยให้ถูกต้องก่อน โจทก์กับสามีได้เตือนให้จำเลยรื้อรั้วที่กั้นระหว่างที่ดินของจำเลยกับที่ดินของผู้มีชื่อหลายครั้ง แต่จำเลยดื้อรั้นไม่นำพา ต่อมาเดือนมีนาคม 2530 โจทก์จึงทราบจากการรังวัดสอบเขตที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ตึกแถวของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยเสียเงินค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยรุกล้ำเดือนละ 100 บาท ตั้งแต่วันที่ใช้ที่ดิน และให้โจทก์จดทะเบียนภารจำยอมชั่วอายุของโรงเรือนจำเลย โดยจำเลยเสียค่าใช้จ่าย และให้อำนาจโจทก์ที่จะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมนั้นเสียได้เมื่อโรงเรือนจำเลยสลายไปทั้งหมด
จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการหาช่างก่อสร้างตรวจสอบและชี้หลักเขตตามโฉนดเพื่อให้ช่างก่อสร้างดำเนินการปักผังตึกแถว และให้โจทก์ดำเนินการควบคุมความถูกต้องของการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยสุจริต จำเลยไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างที่ดินที่โจทก์อ้างว่ารุกล้ำ 1 ตารางวา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยเสียเงินค่าตอบแทนเป็นค่าใช้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยรุกล้ำแก่โจทก์เดือนละ100 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไป กับให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินชั่วอายุของโรงเรือนจำเลยโดยให้โจทก์จำเลยเสียค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง และให้โจทก์มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินเมื่อโรงเรือนจำเลยสลายไปทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมเหนือที่ดินส่วนที่รุกล้ำตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1 โดยโจทก์จำเลยเสียค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง และให้โจทก์มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้เมื่อตึกแถวส่วนที่รุกล้ำสลายไปทั้งหมด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปคือ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การที่ส่วนของคานคอดินฐานรากของตึกแถวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์นั้น โจทก์ได้รับประโยชน์จากคานคอดินนั้นเช่นเดียวกับจำเลย จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินโจทก์ไม่ได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยข้อนี้ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน โจทก์จำเลยตกลงว่าจ้างนายบุญธรรม ลาดคำ ให้ปลูกสร้างโรงเรือนเป็นตึกแถว 4 ชั้นบนที่ดินของทั้งสองฝ่าย โดยให้ตึกแถวส่วนของโจทก์อยู่บนที่ดินของโจทก์และตึกแถวส่วนของจำเลยอยู่บนที่ดินของจำเลย และให้ใช้คานคอดินกับผนังตึกซึ่งอยู่กึ่งกลางตามแนวเขตร่วมกัน แต่หลังจากก่อสร้างใกล้จะเสร็จจึงรู้ว่าคานคอดินและผนังตึกที่ใช้ร่วมกันรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางวาดังปรากฏตามบริเวณพื้นที่สีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยร่วมกันว่าจ้างบุคคลภายนอกก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินของแต่ละฝ่ายซึ่งตั้งอยู่ติดกันดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นชัดว่าต่างฝ่ายต่างประสงค์ให้มีการก่อสร้างตึกแถวโดยให้มีคานคอดินที่ทอดไปตามแนวเขตที่ดินเป็นเส้นแบ่งแยกตึกแถวของทั้งสองฝ่ายออกจากกัน กรณีเช่นนี้ เมื่อการก่อสร้างคลาดเคลื่อนทำให้คานคอดินที่เป็นแนวแบ่งแยกตึกรวมทั้งผนังตึกที่ตั้งอยู่บนคานคอดินซึ่งโจทก์จำเลยใช้ประโยชน์ร่วมกันรุกล้ำเข้าไปอยู่ในที่ดินของโจทก์ จะถือว่าจำเลยมิได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์หาได้ไม่ แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากคานคอดินและผนังตึกนั้นด้วยก็ตาม ต้องถือว่าจำเลยได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยโจทก์มิได้ยินยอมอันเป็นการก่อให้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของโจทก์ ดังนี้โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ส่วนปัญหาต่อไปที่จำเลยฎีกาว่าการก่อสร้างตึกแถวนี้ โจทก์เป็นฝ่ายนำชี้ให้วางผังคลาดเคลื่อนและโจทก์เองเป็นผู้ควบคุมดูแล และยินยอมให้จำเลยก่อสร้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำ และจดทะเบียนภารจำยอมนั้นข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมาฟังได้ว่าโจทก์จำเลยร่วมกันว่าจ้างให้นายบุญธรรม ลาดคำ ก่อสร้างตึกแถว 4 ชั้น โดยตึกแถวของฝ่ายใดก็ให้อยู่บนที่ดินของฝ่ายนั้น และใช้คานคอดินตามแนวเขตที่ดินร่วมกัน ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 ก่อนที่จะมีการลงมือก่อสร้างโจทก์ได้นำชี้แนวเขตที่ดินด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยเพื่อให้นายบุญธรรมวางผัง ขณะนั้นจำเลยก็อยู่ด้วยและมิได้คัดค้านแต่อย่างใด ต่อจากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยได้ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เงินค่าก่อสร้างส่วนของจำเลย จำเลยได้นำมอบแก่โจทก์ตามงวดที่จะต้องจ่ายเพื่อให้โจทก์รวมจ่ายให้แก่นายบุญธรรม ต่อมาเมื่อมีการรังวัดสอบเขตจึงทราบว่าตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ดังนี้ เห็นว่าขณะมีการชี้แนวเขตวางผังและทำการก่อสร้างนั้น จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นและควบคุมดูแลแต่ก็ไม่ทราบว่ามีการก่อสร้างคลาดเคลื่อนทำให้ตึกแถวของจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต แต่จำเลยจะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของโจทก์เองหาได้ไม่และจะถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยก่อสร้างตึกแถวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้ เพราะโจทก์จำเลยตกลงกันมาแต่ต้นเพียงว่าให้ตึกแถวของโจทก์จำเลยตั้งอยู่บนที่ดินของแต่ละฝ่ายทั้งจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะจำเลยก็มีหน้าที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้าไปให้แก่โจทก์ และมีสิทธิที่จะให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมต่อภายหลังถ้าตึกแถวนั้นสลายไปทั้งหมด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share