แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า ‘RICOPY’ ส่วนของจำเลยใช้คำว่า ‘RECOPY’ มีลักษณะสำคัญบ่งเฉพาะเป็นอักษรโรมัน เมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกัน คือ โจทก์ออกสำเนียงว่า ‘ริโคปีย์’ ส่วนจำเลยออกสำเนียงว่า’รีโคปีย์’ แตกต่างกันเฉพาะตัวI และตัว E เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของโจทก์ และสินค้าของโจทก์จำเลยที่ขอจดทะเบียนเป็นสินค้าอย่างเดียวกัน เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแพร่หลายโดยทั่วไปมาก่อน จำเลยเพิ่งคิดจะใช้คำว่า ‘RECOPY’ เป็นเครื่องหมายการค้าหลังจากทราบถึงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์แล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าและให้จำเลยไปเพิกถอนคำขอจดทะเบียนการค้าของจำเลยดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOH”และคำว่า “RICOPY” ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์ไม่มีคำแปลและเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองกับผลิตภัณฑ์สินค้าของโจทก์ได้แก่ กล้องถ่ายรูป ฟิล์มถ่ายรูป นาฬิกา สายนาฬิกาเครื่องคำนวณ เครื่องคิดเลข เครื่องถ่ายสำเนา หรือเครื่องถ่ายเอกสาร กระดาษอัดสำเนา กระดาษถ่ายเอกสารและการพิมพ์ กระดาษในการล้างอัดขยายรูป ตลอดจนเคมีวัตถุที่ใช้ในการถ่ายสำเนาเอกสาร และอัดล้างขยายภาพถ่ายรูปที่เป็นสินค้าจำพวก 1, 6, 8, 10, 13, 14, 37 และ 39 ตามรายการสินค้าท้ายพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการโฆษณาแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ซื้อหาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมากว่า 20 ปีแล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ เกือบทั่วโลก ในประเทศไทยได้ดำเนินการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวก 10, 13, 14, 37 และ 39 และโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” สำหรับสินค้าของโจทก์จำพวก 1, 6, 8 และ 39 อันเป็นคำขอที่คลุมถึงสินค้าเครื่องอัดสำเนา เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมานายทะเบียนได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ไม่อาจดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” ให้ได้ เพราะมีรูปรอยเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดไว้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเจตนาทุจริตในขณะที่โจทก์ยังมิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” สำหรับสินค้าทั้งสี่จำพวก โดยลักลอบเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปดัดแปลงเปลี่ยนตัวสะกดจากตัวอักษร I เป็นตัวอักษร E และนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อถือเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นของจำเลย และใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหาย ทำให้ผู้ซื้อหลงผิดว่า สินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่อาจดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “RECOPY” ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนคำขอจดทะเบียนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองทำลายเครื่องหมายการค้าคำว่า “RECOPY” ที่ปรากฏบนสินค้าของจำเลยให้หมดสิ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง ทั้งไม่ได้ใช้กับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ โจทก์เพิ่งมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายหลังที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนแล้วสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” ไม่เคยมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1เท่านั้น
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากไม่ไปเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า “RICOPY”ส่วนของจำเลยใช้คำว่า “RECOPY” มีลักษณะสำคัญบ่งเฉพาะเป็นอักษรโรมัน เมื่อออกสำเนียงชื่อก็คล้ายคลึงกัน คือโจทก์ออกสำเนียงว่า “ริโคปีย์”ส่วนของจำเลยออกสำเนียงว่า “รีโคปีย์” แตกต่างกันเฉพาะตัว I และตัว Eเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับของโจทก์ ทั้งสินค้าของโจทก์จำเลยที่ขอจดทะเบียนก็เป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับสินค้าตามฟ้อง คำประดิษฐ์อักษรโรมันคำว่า “RICOPY”จึงเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างหนึ่ง มิใช่เป็นการบรรยายแบบสินค้า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “RICOPY” ของโจทก์เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2514 โดยมีการโฆษณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนแล้ว ทั้งผู้ซื้อหารู้จักกันว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ จำเลยได้รู้ถึงการโฆษณาสินค้าของโจทก์และเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ จำเลยเพิ่งคิดใช้คำว่า “RECOPY” เป็นเครื่องหมายการค้ามาเพียงปีเศษเช่นนี้ย่อมส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของจำเลย แม้จำเลยจะไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน