คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยสั่งปิดกิจการภัตตาคารและสั่งห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับการเก็บรายได้จากภัตตาคารดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1เป็นผู้เก็บรายได้เองและไม่ยอมมอบเงินรายได้นั้นให้โจทก์ทั้ง ๆ ที่สัญญาระบุว่าให้โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรายได้นั้นทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบการเก็บรายได้จากการประกอบกิจการภัตตาคารดังกล่าวให้โจทก์เข้าไปเป็นผู้เก็บรายได้นั้นต่อไปและใช้ค่าเสียหายอันเป็นรายได้จากการประกอบกิจการนั้นที่จำเลยที่ 1 เก็บไว้คืนให้โจทก์คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีกโดยเรียกเอาค่าหลักประกันสัญญาค่าตกแต่งสถานที่ ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าวัตถุดิบคงเหลืออันเป็นทรัพย์สินของโจทก์คืนทั้งนี้ก็เพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งเลิกสัญญาแล้ว มิใช่เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาอย่างคดีแรก จึงเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งในคดีแรกจำเลยที่ 2 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เข้าประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการประกอบกิจการภัตตาคารและเช่าสถานที่ประกอบกิจการจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยโจทก์ได้ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เข้าประมูลและได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูล โจทก์จึงได้เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการและเช่าสถานที่เพื่อประกอบกิจการ ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา 5 ปี โดยทำในนามของจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นผู้นำหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 5,856,400บาท วางไว้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าลงทุนตกแต่งสถานที่และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบกิจการภัตตาคาร โดยมีรายจ่ายเป็นค่าตกแต่งสถานที่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,086,715.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 14,964,386.71 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 13640/2537 ระหว่างนายธนพันธ์ สิริภัทราวรรณ โจทก์ บริษัทเรือนเสวย จำกัด จำเลย ข้อหาฐานความผิดผิดสัญญา ละเมิดเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในข้อหาละเมิด ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย ฟ้องของโจทก์ ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนวันนัดชี้สองสถาน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 อ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 13640/2537

ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นในวันนัดสืบพยานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า คดีทั้งสองคู่ความเดียวกัน โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันสืบเนื่องมาจากมูลหนี้เรื่องผิดสัญญา จึงเป็นการฟ้องซ้อนแล้วสั่งงดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่13640/2537 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) หรือไม่ เห็นว่า คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยจำเลยที่ 1 สั่งปิดกิจการภัตตาคารเสวยและสั่งห้ามมิให้โจทก์และพนักงานการเงินของโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับการเก็บรายได้จากภัตตาคารดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรายได้เองและไม่ยอมมอบเงินรายได้นั้นให้โจทก์ทั้ง ๆ ที่สัญญาได้ระบุไว้ว่าให้โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรายได้ และรายจ่ายในการดำเนินกิจการภัตตาคารนั้นทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ส่งมอบการเก็บรายได้จากการประกอบกิจการภัตตาคารดังกล่าวให้โจทก์เข้าไปเป็นผู้เก็บรายได้นั้นต่อไปและใช้ค่าเสียหายอันเป็นรายได้จากการประกอบกิจการนั้นที่จำเลยที่ 1 เก็บไว้คืนให้โจทก์ ในระหว่างพิจารณานั้น โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้อีก เรียกเอาค่าหลักประกันสัญญา ค่าตกแต่งสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ และค่าวัตถุดิบคงเหลืออันเป็นทรัพย์สินของโจทก์คืนเพื่อกลับคืนสู่ฐานเดิมเสมือนหนึ่งเลิกสัญญาแล้ว มิใช่เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาอย่างคดีแรก จึงเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งในคดีแรกจำเลยที่ 2 มิได้เป็นจำเลยด้วย ดังนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 13640/2537 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามรูปคดี

Share