คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 75 ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างต่อลูกจ้าง โดยให้นำข้อ 15 ข้อ 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งข้อ 15 ให้ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานแจ้งเป็นหนังสือกำหนดวันส่งคำชี้แจงเกี่ยวกับแรงงานและวันเวลา และสถานที่ที่จะพิจารณาข้อพิพาทแรงงานให้ทั้งสองฝ่ายทราบ และข้อ 16 ในการพิจารณาข้อพิพาทแรงงานผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายชี้แจงแถลงเหตุผล และนำพยานเข้าสืบ การนำมาใช้โดยอนุโลมหมายถึงการนำมาใช้บังคับเท่าที่จะไม่เป็นการขัดขืนต่อการพิจาณา และวินิจฉัยชี้ขาดข้อกล่าวหา คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีผลบังคับคู่กรณีได้ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามวิธีการที่ประกาศดังกล่าวได้กำหนดไว้แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ย่อมเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ เพราะทำงานบกพร่องและหย่อนสมรรถภาพ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งพิจารณาชี้ขาดในเรื่องนี้ ได้สั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ เข้าทำงานตามเดิม และคำชี้ขาดของจำเลยกระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อข้อ ๗๕ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ ของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ฉบับลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ กล่าวคือ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้แจ้งข้อกล่าวหาของจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ให้โจทก์ทราบ ทั้งมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบถึงวันกำหนดส่งคำชี้แจงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน คำสั่งจึงไม่ชอบขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำชี้ขาดเป็นที่สุด ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะอุทธรณ์ต่อศาลได้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว และบทบัญญัติที่ใช้บังคับในการระงับข้อพิพาทแรงงานให้นำมาใช้บังคับในการพิจารณาการกระทำอันไม่เป็นธรรม ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยอนุโลมเท่านั้น จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามทุกประการ คำชี้ขาดไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง
จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยมิได้มีส่วนในการออกคำสั่งแต่ประการใด มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย และวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนัยข้อ ๑๕ และ ข้อ ๑๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ คือไม่แจ้งเป็นหนังสือ กำหนดวันส่งคำชี้แจงเกี่ยวกับคำร้องเรียน วัน เวลา และสถานที่ที่จะพิจารณาคำร้องเรียนให้โจทก์ทราบ ไม่ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงแถลงเหตุผลและนำพยานเข้สืบ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตาม โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ แต่ไม่มีคำขอบังคับถึงจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ คำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ จึงไม่ชอบ พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามคำชี้ขาดที่ ๒/๒๕๑๖ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๘ ที่ ๙
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์มิใช่กฎหมาย หากเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานตามนัยที่กล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามประเด็นที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ อุทธรณ์ แล้วพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องนี้ให้โจทก์ทราบด้วยวาจา โดยแจ้งกับนายประสิทธิ์ ตันสุวรรณ และนายวินัย กรีพานิช ทั้งสองคนเป็นลูกจ้างโจทก์ ไม่ใช่ตัวแทนโจทก์ ในการสอบสวนพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์นั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้สอบสวนปากคำนายประสิทธิ์ ตันสุวรรณ นายวินัย กรีพานิช นายชัชวาลย์ เลื่อมประภัศร์ นายนิคม พงษ์ไทย ลูกจ้างโจทก์ ส่วนพยานเอกสาร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับจากสำนักงานแรงงานเขต ๒ ชลบุรี โดยหัวหน้าสำนักงานแรงงานเขต ๒ ชลบุรี มีหนังสือไปถึงผู้จัดการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมเอสโซ่ขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติในการทำงานของจำเลยที่ ๘ ที่ ๙ และผู้จัดการโรงกลั่นน้ำมันได้รวบรวมส่งไป
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแรงงานสัมพันธ์ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๗๕ บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมของนายจ้างต่อลูกจ้าง โดยให้นำข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ และข้อ ๑๗ ของประกาศฉบับนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะการนำข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อความในข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ มีดังนี้
ข้อ ๑๕ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับทราบการตั้ง ให้ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานแจ้งเป็นหนังสือกำหนดวันส่งคำชี้แจง เกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานและวัน เวลา และสถานที่ที่จะพิจารณาข้อพิพาทแรงงานให้ทั้งสองฝ่ายทราบ
ข้อ ๑๖ ในการพิจารณาข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายชี้แจงแถลงเหตุผล และนำพยานเข้าสืบ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ฎีกาว่า การนำข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในการพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์แต่เพียงให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธืนำเอาวิธีการที่จะเป็นผลดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นมาใช้ได้เท่านั้น ไม่เป็นการบังคับว่าจะต้องนำมาใช้โดยเคร่งครัดและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้นำเอาวิธีการพิจารณาในข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ มาใช้โดยอนุโลมแล้ว กล่าวคือ สำหรับข้อ ๑๕ ได้มีการแจ้งกำหนดวันส่งคำชี้ขาดของลูกจ้างและนายจ้างด้วยวาจาแล้ว และสำหรับข้อ ๑๖ นายจ้างก็มีโอกาสชี้แจงแถลงเหตุผลและได้นำเอกสารทั้งหมดที่โจทก์ระบุอ้างเป็นพยานในคดีนี้ นำสืบแสดงต่อคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้สืบพยานบุคคลก็เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ขอสืบพยานเอง วิธีพิจารณาในข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ มิใช่เป็นเงื่อนไขแห่งความสมบูรณ์ในเรื่องวิธีการพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม จึงถึงกับถ้าหากมิได้มีการปฏิบัติตามโดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดต้องพลอยเสื่อมเสียไปถึงกับเป็นคำชี้ขาดอันมิชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า การนำเอาข้อ ๑๕ และ ข้อ ๑๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายถึงการนำเอาวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ มาใช้บังคับเท่าที่จะไม่เป็นการขัดขืนต่อการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อกล่าวหา เมื่อพิจารณาข้อบัญญัติทั้งสองข้อดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะปฏิบัติตามนั้น นอกจากจะไม่เป็นการขัดขืนต่อการพิจารณาและคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อกล่าวหาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วย และเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีผลบังคับคู่กรณีได้ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามวิธีการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้กำหนดไว้แล้ว แต่กรณีนี้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้มีการปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็ไม่มีผลบังคับโจทก์ และการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ย่อมเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยได้
พิพากษายืน

Share