คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปเพราะเหตุมิ ได้จดทะเบียน – ภารจำยอมหาได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 800/2502 ซึ่งตัดสินโดยที่ประชุมใหญ่)
นับแต่แต่ พ.ศ. 2485 มารดาโจทก์เข้าอยู่ในที่ดิน ของโจทก์และได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจรจำหรับรถ 3 ล้อเข้าออกบ้านสู่ถนนดินสอและเมื่อสามีโจทก์และโจทก์รับช่วงเป็นเจ้าของที่ดิน มารดาโจทก์ สามีโจทก์และโจทก์ ก็ได้ใช้ทางพิพาทนี้สำหรับรถ 3 ล้อ สัญจรเข้าออกบ้านโจทก์สืบต่อกันตลอดมาไม่ขาดสาย จนถึงปี พ.ศ. 2499 ซึ่งพิพาทกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว ย่อมได้สิทธิในการจำยอมเหนือทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยยาวตลอดตรอกพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382, 1385, 1387 และ 1401 จำเลยจะปิดกั้นตรอกพิพาทแม้เฉพาะในส่วนที่ดินอยู่ในหน้าโฉนดของจำเลยหาได้ไม่ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390) การที่จำเลยปิดกั้นตรอกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในสิทธิภารจำยอมไม่ได้ ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องงว่า ทางเดินในตรอกติดถนนดินสอ เป็นทางสาธารณสำหรับบุคคลอื่น ๆ และโจทก์กับบริวารใช้เป็นทางเดินเข้าออก และใช้รถ ๓ ล้อ เป็นยานพาหนะ เข้าออกติดต่อสืบเนื่องกันมาตั้งแต่เจ้าของเดิม เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว นอกจากจะเป็นสาธารณแล้ว ยังตกอยู่ในภารจำยอมด้วย เพราะได้ใช้เป็นทางเดินเข้าออกและให้รถ ๓ ล้อ รับจ้างเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ถนนดินสอติดต่อสืบเนื่องกันมาตั้งแต่เจ้าของเดิมเกิน ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความ จำเลยกั้นรั้วกลางตรอกเป็นเวลา ๒๐ วัน เป็นการละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า ทางเดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณหรือหากศาลเห็นว่า เป็นเพียงภาระจำยอม ก็ขอให้สั่งพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครจดทะเบียน ภารจำยอมนี้ไว้ด้วยขอให้ห้ามจำเลยอย่าขัดขวางหรือทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมต้องลดหรือเสื่อมความสะดวก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓,๖๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า เจ้าของเดิมไม่ได้สละที่ให้เป็นทางสาธารณ ไม่มีคนอื่นใช้เดินเป็นประจำ การที่โจทก์ใช้รถ ๓ ล้อ เข้าออกเป็นเรื่องอาศัย และเป็นการอนุญาตด้วยอัธยาศัยไมตรี ทั้งไม่ได้ใช้ทางรายนี้จนได้สิทธิโดยอายุความและไม่มีการจดทะเบียนจำยอม โจทก์จะใช้ยันจำเลยไม่ได้ เพราะเจ้าของเดิมกับจำเลยได้ซื้อที่รายนี้ไว้โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน นับแต่นั้นจนบัดนี้ยังไม่เกิน ๑๐ ปี โจทก์สมคบกันรื้อรั้วที่จำเลยทำขึ้นในที่ของจำเลยเพื่อเอารถ ๓ ล้อ ของโจทก์ผ่านทางรายนี้ ทำให้รั้วของจำเลยเสียหาย จำเลยจึงฟ้องแย้ง ขอให้ห้ามไม่ให้โจทก์เกี่ยวข้องและงดใช้สอยที่ดินของจำเลย ห้ามโจทก์ขัดขวางต่อการที่จำเลยได้ทำรั้วบนที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ทำรั้วตามสภาพเดินและให้โจทก์ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า ทางนี้เป็นทางสาธารณและตกเป็นภารจำยอมแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทมิใช่เป็นทางสาธารณและโจทก์ไม่มีสิทธิทางภารจำยอม พิพากษายกฟ้องโจทก์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องใช้สอยที่ดินทางพิพาทที่เป็นของจำเลยต่อไป ห้ามโจทก์ขัดขวางต่อการที่จำเลยจะได้ทำรั้วบนที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ ที่ ๑ – ๒ ทำรั้วตามสภาพเดิม ถ้าไม่ทำก็ให้จำเลยทำแทนโดยโจทก์ ที่ ๑ – ๒ เป็นฝ่ายออกเงิน ๑,๐๐๐ บาท ถ้าไม่อาจทำได้ ก็ให้โจทก์ ๑ – ๒ ใช้เงินค่ารั้วที่รื้อ ๑,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายอื่น ๆ นอกนั้นให้ยก เพราะจำเลยไม่เสียหายอะไร
โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่า ควรชนะคดีตามฟ้อง และขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ว่า หากที่ดินของจำเลยจะได้ตกเป็นภารจำยอมจริง โจทก์จะใช้ยันแก่จำเลยไม่ได้ เพราะไม่มีการจดทะเบียนภารจำยอม โดยจำเลยที่ ๑ กับเจ้าของเดิมได้ซื้อที่รายนี้ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นับแต่จำเลยรับมายังไม่ถึง ๑๐ ปีนั้น ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาได้เคยตัดสินโดยที่ประชุมใหญ่ว่า จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยสุจริตขึ้นเป็นข้อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินนั้นต้องสิ้นไปเพราะเหตุมิ ได้จดทะเบียน – ภารจำยอมหาได้ไม่ ตามฎีกาที่ ๘๐๐/๒๕๐๒
ศาลฎีกาฟังต่อไปว่า นับแต่แต่ พ.ศ. ๒๔๘๕ มารดาโจทก์เข้าอยู่ในที่ดิน ของโจทก์และได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจรจำหรับรถ ๓ ล้อเข้าออกบ้านสู่ถนนดินสอและเมื่อสามีโจทก์และโจทก์รับช่วงเป็นเจ้าของที่ดิน มารดาโจทก์ สามีโจทก์และโจทก์ ก็ได้ใช้ทางพิพาทนี้สำหรับรถ ๓ ล้อ สัญจรเข้าออกบ้านโจทก์สืบต่อกันตลอดมาไม่ขาดสาย จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งพิพาทกันเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๗๗๐ และที่ ๗๖๙ ของจำเลยผู้อยู่ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์อันมีภารจำยอมเหนือโฉนดที่ ๗๗๐ และที่ ๓๖๙ ของจำเลยผู้อยู่ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์เฉพาะส่วนที่เป็นทางพิพาทโดยกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาวตลอดตรอกพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๕, ๑๓๘๗ และ ๑๔๐๑ จำเลยจะปิดกั้นตรอกพิพาทแม้เฉพาะในส่วนที่ดินอยู่ในหน้าโฉนดของจำเลยหาได้ไม่ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๙๐) การที่จำเลยปิดกั้นตรอกพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในสิทธิภารจำยอมไม่ได เป็นเวลา ๒๐ วันตามฟ้อง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐)
สำหรับค่าเสียหายนั้น โจทก์มีรถ ๓ ล้อ ให้เช่า ๓๐ คัน ในการที่โจทก์นำรถ ๓ ล้อ เข้าออกตรอกพิพาทไม่ได้ ต้องนำไปเก็บไว้ที่อื่นและจ้างผู้มีชื่อเฝ้ารักษา ๒๐ วัน สำหรับรถ ๒๗ คัน กับค่าขาดประโยชน์สำหรับรถอีก ๓ คัน ซึ่งอยู่ในบ้านโจทก์ออกหาประโยชน์ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นค่าจ้างเฝ้ารักษารถ ๓ ล้อ ที่เข้าบ้านไม่ได้ ๒๗ คน ในอัตราวันละ ๒๕ บาท ๒๐ วัน เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์สำหรับรถสามล้อ ๓คันอีก ๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท
ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ห้ามจำเลยขัดขวางหรือประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับประโยชน์แห่ดงภารจำยอมในตรอกพิพาทหนี้ลดหรือเสื่อมความสะดวกไม่ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ให้จำเลยจัดการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินจำเลย โฉนดที่ ๗๖๙ และ ๗๗๐ ตามฟ้อง ถ้าไม่จัดการให้ ก็ให้โจทก์ใช้สิทธิจดทะเบียนดังกล่าวโดยอ้างคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

Share