คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับ จำเลยจึงจ่ายเงินบำเหน็จอันมีค่าชดเชยเกลื่อนกลืนอยู่ด้วยให้แก่โจทก์ กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้ว

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้ง 2 สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 และระเบียบฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 นั้น ไม่ใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพราะระเบียบดังกล่าว(คงหมายถึงการจ่ายเงินตามระเบียบดังกล่าว) มีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าการให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง และมีหลักการและวิธีการแตกต่างไปจากค่าชดเชย จึงเป็นเงินประเภทอื่น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยว่า เงินบำเหน็จตามระเบียบที่จำเลยใช้อยู่นั้นถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แต่ได้ความว่า “ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502” ซึ่งคณะรัฐมนตรีวางไว้และจำเลยนำมาใช้นั้น ข้อ 5 มีความว่า “เงินบำเหน็จที่ให้แก่ลูกจ้างซึ่งออกจากงานตามข้อ 4 มีจำนวนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาทำงาน

เวลาทำงานสำหรับคำนวณเงินบำเหน็จให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็นหนึ่งปี

ในกรณีลูกจ้างประจำผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้างฯ อยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้เท่าใด ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น” ศาลแรงงานกลางฟังว่า วิธีปฏิบัติระหว่างจำเลยกับพนักงานทั้งหลายรวมทั้งโจทก์ทั้งสองนี้ด้วยได้เป็นไปตามระเบียบนี้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับ จำเลยจึงจ่ายเงินที่เรียกว่าเงินบำเหน็จอันมีค่าชดเชยเกลื่อนอยู่ด้วยให้แก่โจทก์ เพราะเงินบำเหน็จซึ่งจำเลยจ่ายให้ตามระเบียบนั้นมีจำนวนเพียงเท่าที่สูงกว่าค่าชดเชยเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีก ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 479/2524 ระหว่างพันเอกวัลลภสิริภูบาล โจทก์ องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเช่นคดีนี้ย่อมต้องถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วตามนัยคำพิพากษาฎีกาซึ่งศาลแรงงานกลางอ้างมา ข้อพิพาทแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเพราะถ้อยคำดังที่พยานจำเลยกล่าวว่า “ถ้าพนักงานคนใดเมื่อคำนวณแล้วจะได้รับเงินบำเหน็จมากกว่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานพนักงานผู้นั้นก็จะได้รับเงินบำเหน็จโดยถือว่าได้รับค่าชดเชยเกลื่อนกลืน รวมไปด้วยกันกับเงินบำเหน็จที่ได้รับไปแล้วนั้น” ซึ่งในขณะที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะได้ชี้แจงให้โจทก์ทราบว่าเงินที่จ่ายนั้นเป็นค่าชดเชยเท่าใด กับเงินบำเหน็จอีกเท่าใด ข้อพิพาทก็จะไม่เกิดขึ้น”

พิพากษายืน

Share