คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466-1467/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่รากฐานจะทรุดหรือไม่อยู่ที่น้ำหนักของอาคารชั้นบนซึ่งจะถ่ายน้ำหนักลงมายังเสาที่รองรับ ดังนั้น การที่จำเลยรื้อฝาสังกะสีเดิมออกแล้วก่ออิฐบล๊อกยึดโยงอาคารชั้นล่าง ไม่น่าจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารนั้นมากจนถึงกับจะทำให้เกิดการทรุดที่รากฐานได้ ส่วนการที่จำเลยต่อหลังคาออกมาคลุมระเบียงและติดบานหน้าต่างภายในขอบเขตอาคารเดิม จำเลยทำภายในขอบเขตของอาคารเดิม จึงไม่เป็นการขยายพื้นที่แห่งอาคารนั้นมากและยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมาก การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการปลูกสร้างอาคารที่จะต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 มาตรา 6, 7
จำเลยดัดแปลงอาคารก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ และไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น จะนำกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่จำเลยมิได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โจทก์ซื้อบ้านไม้ ๒ ชั้นซึ่งปลูกมากว่า ๔๐ ปี ก่อนฟ้องและอยู่ในที่เช่าของวัดบวรนิเวศเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่บ้านดังกล่าวหลังคา ฝาสังกะสีชั้นล่าง และไม้บางส่วนผุเก่ามาก โจทก์จึงเปลี่ยนสังกะสีหลังคาใหม่ ส่วนฝาสังกะสีชั้นล่างเปลี่ยนเป็นอิฐบล๊อกแทน ฝาไม้ที่ผุเก่าก็เปลี่ยนใหม่ ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการมีคำสั่งยกอุทธรณ์ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคารของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ตรวจพบว่าโจทก์ทำการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของโจทก์ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ฯ นายวีระผู้ช่วยหัวหน้าเขตพระนครปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารส่วนที่ขัดกับกฎหมายโจทก์ไม่จัดการรื้อถอนแต่อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ทราบแล้วเพิกเฉย คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๐ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองอาคารเลขที่ ๑๐ ถนนตะนาว แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร ก่อสร้างซ่อมแซมดัดแปลงอาคารจากอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ๒.๒๕ เมตร เป็นอาคาร ๒ ชั้น โดยก่ออิฐบล๊อกชั้นล่างเป็นฝาผนัง ชั้นบนเป็นฝาไม้ ต่อเติมหลังคาคลุมระเบียงบ้าน กั้นฝาผนัง ติดตั้งบานหน้าต่างเป็นห้องใหม่ ทำให้ความสูงจากพื้นดินถึงพื้นชั้นที่สองไม่ถึง ๒.๔๐ เมตร ผนังด้านที่มีหน้าต่างห่างเขตที่ดินไม่ถึง ๒ เมตร และมีที่ว่างไม่ถึงร้อยละสามสิบของพื้นที่ อาคารเดิมซึ่งปลูกสร้างโดยผิดเทศบัญญัติอยู่แล้วโดยไม่มีเนื้อที่ว่างถึงร้อยละสี่สิบของเนื้อที่ จะทำการเปลี่ยนแปลงซ่อมแซมต่อเติมไม่ได้ นายวีระผู้ช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารส่วนที่ขัดต่อเทศบัญญัติ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์ จำเลยคงเพิกเฉย ต่อมามีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกใช้บังคับ จำเลยก็ยังคงฝ่าฝืนด้วย นายสุรินทร์ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่จำเลยต่อเติมดัดแปลง จำเลยทราบคำสั่งแล้วอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าว หากไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า เนื่องจากหลังคาและสังกะสีเก่าผุ จึงเปลี่ยนหลังคาบางส่วนและเปลี่ยนฝาสังกะสีเป็นอิฐบล๊อกโดยจำเลยมิได้ต่อเติมหรือดัดแปลงอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักอาคาร และมิได้เพิ่มหรือขยายพื้นที่ของอาคาร จึงไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าโจทก์ที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าโจทก์ที่ ๒ และหัวหน้าเขตพระนครว่าโจทก์ที่ ๓ ส่วนนางเบญจมาศว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่พิพาท ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ และยกฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ ๑
โจทก์ที่ ๒ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน และโจทก์ที่ ๓ อุทธรณ์ในสำนวนหลัง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๒ ฎีกาทั้งสองสำนวนและโจทก์ที่ ๓ ฎีกาในสำนวนหลัง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในขณะที่จำเลยซ่อมแซมหรือดัดแปลงอาคารที่พิพาทนั้น มีพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ใช้บังคับอยู่ ซึ่งในมาตรา ๖ บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างอาคารอย่างใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” และมีมาตรา ๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ ข้อ ๑ บัญญัติต่อไปว่า “บุคคลผู้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าทำการปลูกสร้างอาคาร
(๑) สร้างอาคารขึ้นใหม่ล้วน
(๒) ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารที่มีอยู่แล้วในลักษณะอันเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมาก หรือเป็นการเพิ่มหรือขยายพื้นแห่งอาคารนั้นมาก
ฯลฯ”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารที่จะต้องอนุญาตนั้นจะต้องเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมาก หรือเป็นการเพิ่มหรือขยายพื้นแห่งอาคารนั้นมาก ฉะนั้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีอยู่ว่า การที่จำเลยรื้อฝาสังกะสีเดิมออกแล้วใช้อิฐบล๊อกแทนนั้นจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมากหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า การก่ออิฐบล๊อกชั้นล่างเป็นฝาผนังเป็นการเพิ่มน้ำหนักความกดบนรากฐานอาจทำให้เกิดทรุดที่รากฐานได้ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่รากฐานจะทรุดหรือไม่อยู่ที่น้ำหนักของอาคารชั้นบนซึ่งจะถ่ายน้ำหนักลงมายังเสาที่รองรับ ถ้าอาคารชั้นบนมีน้ำหนักเกินกว่ารากฐานที่จะรองรับไว้ได้ อาคารนั้นก็จะทรุด การที่จำเลยก่ออิฐบล๊อกยึดโยงอาคารชั้นล่างไม่น่าจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมากจนถึงกับจะทำให้เกิดการทรุดที่รากฐานตามที่โจทก์ฎีกาได้ ส่วนการที่จำเลยต่อหลังคาออกมาคลุมระเบียงและติดบานหน้าต่าง จำเลยก็ทำภายในขอบเขตของอาคารของจำเลย จึงไม่เป็นการขยายพื้นที่แห่งอาคารนั้นมากและยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่อาคารนั้นมาก การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือว่า เป็นการปลูกสร้างอาคารตามมาตรา ๗ ที่กล่าวข้างต้น แม้จะมีเทศบัญญัติกำหนดไว้ดังโจทก์นำสืบก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายที่จำเลยทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะมาร้องขอต่อศาลขอให้จำเลยแก้ไขหรือรื้อถอนอาคารส่วนที่โจทก์มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้นเห็นว่าจำเลยดัดแปลงอาคารก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ใช้บังคับ และไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงจะนำกฎหมายขึ้นมาใช้บังคับแก่จำเลยมิได้
พิพากษายืน

Share