แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องที่รวมกันมาไม่เป็นเหตุให้ผลแห่งคดีของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งศาลชั้นต้นได้รับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยกฟ้องหรือให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2506)
โจทก์ในฐานะตัวการฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่1 กู้เงินไปโดยปราศจากอำนาจหรือนอกขอบอำนาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าโจทก์ได้ดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้รายงานให้ทราบทุกเดือนโจทก์ไม่เคยทักท้วง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดไม่ได้ เพราะข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ตัวการรับผิดในการกระทำของตัวแทนซึ่งเป็นคนละกรณีกับตัวการฟ้องตัวแทนให้รับผิดต่อตัวการ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารสาขาของโจทก์โดยตกลงว่าถ้าโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายมากกว่าจำนวนเงินที่คงเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้จนครบ จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นจำนวน 146,279.26 บาท แล้วไม่ชำระโจทก์จึงบอกเลิกบัญชีเดินสะพัด และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระ จำเลยที่ 3ในฐานะตัวแทนโจทก์เพราะเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์ได้กระทำผิดหน้าที่ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์เกี่ยวกับการให้กู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่จำเลยที่ 1ทำให้โจทก์เสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มีอำนาจให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่ต้องทำสัญญา และจำเลยที่ 3 ได้แจ้งยอดรายการเงินเดินสะพัดของบัญชีจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ทุกวัน โจทก์ไม่เคยทักท้วง ถือว่าโจทก์ให้สัตยาบันแล้วจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด และโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นลูกหนี้ร่วม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน149,224.88 บาท หากบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ยังขาดอยู่เท่าใดให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้แทนแต่ไม่เกิน 41,195.12 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ได้ ยังขาดอยู่เท่าใด ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ในจำนวนไม่เกิน 43,344.12 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 อนุญาตให้บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเข้าเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี สำหรับคดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2กับจำเลยที่ 3 จะไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีก็จริง แต่การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องที่รวมฟ้องกันมาไม่เป็นเหตุให้ผลแห่งคดีของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป อีกประการหนึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้รับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยกฟ้องโจทก์หรือให้โจทก์ไปฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ คดีทำนองนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2506
จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3ได้ให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งจำเลยที่ 3 ได้กระทำนอกขอบอำนาจและโจทก์ได้ยอมรับ (ให้สัตยาบัน) ในการกระทำนอกขอบอำนาจนั้นแล้ว ฉะนั้นจำเลยที่ 3 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด แต่ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3รับผิดอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ได้ออกจากการเป็นผู้จัดการสาขาโจทก์ไป 8-9 ปีแล้วโจทก์เปลี่ยนผู้จัดการสาขาไปแล้วถึง 5 คน และโจทก์ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ตลอดมา คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะตัวการฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนให้รับผิดชอบต่อโจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินไปโดยปราศจากอำนาจหรือนอกขอบอำนาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 จำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจให้ลูกค้ากู้เงินจากธนาคารโจทก์นอกจากจะได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่เท่านั้น ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจึงเป็นการกระทำนอกอำนาจ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่ชำระหนี้ และไม่มีหลักประกันให้โจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ทุกเดือนตามบัญชีเดินสะพัดและทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ได้รายงานให้โจทก์ทราบทุกเดือน โจทก์ไม่เคยทักท้วงเลยและได้ปล่อยให้เวลาล่วงมาหลายปีแล้ว เห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ตัวการรับผิดในการกระทำของตัวแทนซึ่งเป็นคนละกรณีกับคดีนี้ซึ่งตัวการฟ้องตัวแทนให้รับผิดต่อตัวการ เมื่อจำเลยที่ 3 ปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3ก็ต้องรับผิด ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน