แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำ 935,442 บาท คืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับไว้จนถึงวันฟ้อง โดยอาศัยเหตุการคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง และขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงเป็นการขอดอกเบี้ยโดยอาศัยเหตุต่างกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินมัดจำและดอกเบี้ยตามขอรวมเป็นเงิน 1,035,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาจะซื้อจะขายนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จำนวน 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) และ ข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาจำนวน 8,040 บาท จึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์ไปทั้งหมด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจากจำเลยเป็นเงิน 4,677,210 บาท ตกลงชำระเงินมัดจำจำนวน 935,442 บาท ที่เหลือ 3,741,768 บาท ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์พบว่าหน้างานยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อขอเลื่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไปจนกว่าหน้างานจะแล้วเสร็จ จำเลยกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์และริบเงินมัดจำ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์จำนวน 935,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้จนถึงวันฟ้อง รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,035,442 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,035,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์เมื่อจำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วเสร็จ จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทเสร็จและแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์หลายครั้ง โจทก์มีหนังสือขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไปอ้างว่าหน้างานยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยได้เข้าทำการเก็บงานตามที่โจทก์แจ้งจนแล้วเสร็จ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 3,741,768 บาท นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2540 จนถึงวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นเงิน 262,948.88 บาท รวมทั้งเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 5 ของค่าเสียหายจำนวน 13,147.44 บาท และค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องเสียชื่อเสียงจำนวน 400,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,035,442 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยก่อสร้างบ้านไม่เรียบร้อย โจทก์ย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 9 ระบุว่า หากมีกรณีที่คู่สัญญามีสิทธิคิดดอกเบี้ยต่อกันทั้งสองฝ่ายตกลงใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ถือว่าตามสัญญาได้มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ในกรณีที่จำเลยจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ไว้แล้วนั้น เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นการตกลงในการคิดดอกเบี้ยในกรณีที่มีการผิดนัดจึงให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยต้องคืนเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วคืนโจทก์ ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดนัด ดังนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาข้อ 9 ไม่ได้ เมื่อตามสัญญามิได้มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ไว้ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้คืนเอาไว้ จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนพร้อมดอกเบี้ยอ้ตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับไว้จนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตรารัอยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการขอดอกเบี้ยโดยอาศัยเหตุต่างกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,035,442 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 935,442 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จำนวน 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) และ ข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาจำนวน 8,040 บาท จึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์ไปทั้งหมด”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์