คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นที่ศาลแรงงานกำหนดไว้เป็นเพียงการกำหนดว่าข้อพิพาทมีอย่างไรบ้างเท่านั้น หาจำต้องวินิจฉัยประเด็นเรียงลำดับไปไม่ ศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้ว่า การวินิจฉัยประเด็นข้อใดก่อนจะเป็นผลให้คดีไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป ก็ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้
โจทก์ตัดตั๋วให้ผู้โดยสารขาดไป 2 ใบ เมื่อพนักงานตรวจการของจำเลยตรวจพบ โจทก์ให้การต่อผู้บังคับบัญชารับว่าเป็นความจริง และกล่าวด้วยว่าโจทก์รีบมากจึงลืมไป โจทก์ขอยอมรับว่าได้ทำผิดจริง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่โดยไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนตามข้อบังคับ เพราะถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งด้วยเหตุโจทก์ให้การรับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่าลืม ก็เท่ากับเป็นการอ้างว่ามิได้มีเจตนาทุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้การรับสารภาพแล้ว ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหา เมื่อจำเลยด่วนลงโทษโจทก์โดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับ จึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานในตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารค่าจ้างวันละ ๖๕ บาท ต่อมาจำเลยไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน โดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งไม่เป็นความจริง และตามคำสั่งของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์รับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชาก็ไม่เป็นความจริง ทั้งการสอบสวนของจำเลยก็ไม่ถูกต้องหรือให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๖๕ บาท จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือคดีถึงที่สุด ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเหมือนเดิมเสมือนหนึ่งไม่เคยเลิกจ้างหรือไล่ออกมาก่อน และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเพราะขณะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารประจำทางของจำเลย มีผู้โดยสาร ๓ คนให้ค่าโดยสารแก่โจทก์๑๐ บาท เป็นค่าโดยสารคนละ ๒.๕๐ บาท รวม ๗.๕๐ บาท แต่โจทก์ตัดตั๋วราคา ๒.๕๐ บาท ให้ผู้โดยสารเพียง ๑ ใบ พร้อมเงินทอน ๒.๕๐ บาท แล้วเบียดบังเอาค่าโดยสารจำนวน ๕ บาท ไปเป็นของส่วนตัวโดยทุจริต พนักงานตรวจการของจำเลยพบเหตุการณ์ดังกล่าวจึงรายงานกล่าวโทษต่อผู้บังคับบัญชา ในชั้นสอบสวนเบื้องต้นของผู้บังคับบัญชาโจทก์ให้การรับสารภาพว่าผิดจริง พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับจำเลยอย่างร้ายแรง มีโทษถึงขั้นไล่ออกและตามข้อบังคับจำเลยระบุว่า พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จะลงโทษไล่ออกโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ คือ ทำความผิดเกี่ยวกับทุจริตต่อหน้าที่และให้คำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยข้อบังคับโดยไม่ปรากฏเหตุกลั่นแกล้ง จะถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่จำต้องรับโจทก์เข้าทำงาน จ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยกเหตุหลงลืมขึ้นเป็นข้ออ้างในคำให้การ เท่ากับโจทก์ปฏิเสธว่ามิได้กระทำไปโดยเจตนา จะถือว่าให้การรับสารภาพยังไม่ได้ การที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงงานโดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนก่อนจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับจำเลย เป็นการไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เห็นควรสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเพื่อจำเลยจะได้ทำการสอบสวนและลงโทษให้ถูกต้องต่อไป พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและตำแหน่งงานไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๖๕ บาท นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ทั้งนี้โดยไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของโจทก์ใหม่ตามข้อบังคับของจำเลย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางยกประเด็นข้อ ๒ ขึ้นวินิจฉัยก่อนประเด็นข้อ ๑ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าประเด็นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้เพียงเป็นการกำหนดว่าประเด็นพิพาทในคดีนี้มีอย่างไรบ้างเท่านั้น แต่หาจำต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเรียงลำดับไปไม่ ศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้ว่า การวินิจฉัยประเด็นข้อใดก่อนแล้วจะเป็นผลในคดีให้ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป ก็ย่อมยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยก่อนได้
ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดว่า การเลิกจ้างอย่างไรถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและศาลย่อมวินิจฉัยโดยอาศัยหลักธรรมดาโดยคำนึงเหตุอันควรไม่ควรในการเลิกจ้างก็ตาม แต่ก็ต้องพิจารณาพฤติการณ์ที่ลูกจ้างได้กระทำและการลงโทษของนายจ้างเป็นกรณีไป คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์โดยสารประจำทางของจำเลย วันเกิดเหตุมีผู้โดยสาร ๓ คนขึ้นรถยนต์โดยสารที่โจทก์ประจำอยู่ ผู้หญิงคนหนึ่งในจำนวน ๓ คน ให้ค่าโดยสาร๑๐ บาทแก่โจทก์ ซึ่งต้องเสียค่าโดยสารคนละ ๒.๕๐ บาท รวม ๓ คน ๗.๕๐ บาทโจทก์ตัดตั๋วให้ผู้โดยสารดังกล่าว ๑ ใบ และทอนสตางค์ให้ ๒.๕๐ บาท พนักงานตรวจการของจำเลยตรวจพบจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาสอบถามโจทก์ โจทก์ให้การตามข้อเท็จจริงข้างต้นและให้การต่อไปว่า ในช่วงนั้นโจทก์ต้องรีบเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารอื่น ๆ ต่อไปอีก โจทก์รีบมากจึงลืมในเงินจำนวนนี้ เหตุการณ์ลืมในครั้งนี้โจทก์ขอยอมรับว่าได้ทำผิดจริง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไล่ออกจากงานตามข้อบังคับจำเลย ฐานทุจริตต่อหน้าที่จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง แต่ข้อบังคับข้อ ๑๔ มีความว่า พนักงานผู้ใดถูกกล่าวหาหรือปรากฏว่ากระทำผิดวินัยตามข้อ ๘ ซึ่งมีโทษถึงไล่ออก และข้อ ๙ ซึ่งมีโทษถึงให้ออก ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างน้อย ๓ คนขึ้นทำการสอบสวน แต่ในกรณีที่พนักงานผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยตามข้อ ๘ หรือข้อ ๙ ได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจสั่งลงโทษจะสั่งลงโทษโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ ข้อ ๑๕ มีความว่าพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งจะลงโทษไล่ออกโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ และข้อ ๑๕.๒ มีความว่าถ้าพนักงานผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชาให้ถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ชัดแจ้งข้อความตามข้อ ๑๔ นี้ ก็เพื่อให้การลงโทษพนักงานผู้ถูกกล่าวหาหรือกระทำผิดวินัยได้รับความเป็นธรรม โดยให้มีการสอบสวนให้ได้ความชัดแจ้งว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ การกระทำของโจทก์ที่ถูกกล่าวหามีโทษถึงถูกไล่ออก การลงโทษตามที่ถูกที่ควรจึงต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนโจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยถือว่าโจทก์ให้การรับสารภาพเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งข้อหาของจำเลยเป็นเรื่องว่าโจทก์กระทำโดยเจตนาหรือจงใจ แต่โจทก์ให้การว่า เป็นเพราะช่วงนั้นโจทก์ต้องรีบเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารอื่น ๆ ต่อไปอีก จึงลืมไป การที่โจทก์อ้างว่าลืมเท่ากับให้การว่าโจทก์มิได้เจตนาทุจริต หรือมิได้จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้การรับสารภาพแล้วเมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดว่า โจทก์กระทำผิดวินัยตามที่จำเลยกล่าวหา จำเลยชอบที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนก่อนลงโทษโจทก์ แต่จำเลยด่วนลงโทษโจทก์โดยมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อบังคับจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ให้การรับสารภาพหรือไม่ย่อมพิจารณาได้จากเอกสาร หาจำเป็นต้องมีการนำสืบถึงวิธีการทุจริตของพนักงานเก็บค่าโดยสารและข้อห้ามของจำเลยไม่ การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยและวินิจฉัยตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารว่า โจทก์มิได้ให้การรับสารภาพจึงมิใช่เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
พิพากษายืน

Share