แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อและดูแลรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เมื่อรถยนต์เสียหายโจทก์ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเช่าซื้อต่อไปจนครบ โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ต่อจำเลยที่ 2 แม้จะตกลงให้ผู้ให้เช่าซื้อรับผลประโยชน์ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อยังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน9 ย-0028 กรุงเทพมหานคร ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมที่อู่สหชัยบริการระหว่างการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวหายไป จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของอู่ต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 130,000 บาทให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยในวงเงิน 100,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นเพียงผู้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ และสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วเพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของอู่และไม่เคยรับซ่อมรถยนต์โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้บริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่ง จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะความเสียหายต่อรถยนต์คันพิพาทต้องด้วยข้อยกเว้นการใช้เพราะโจทก์ไม่เคยเสนอเงื่อนไขจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ และโจทก์นำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้สั่งหรือให้ความยินยอม ซึ่งการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 120,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามส่วน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 1 รถยนต์ได้เกิดสูญหายไปในขณะที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิด ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ส่วนรถยนต์สูญหายเมื่อใด ที่ไหน และอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่ ประเด็นข้อที่สองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เป็นเพียงผู้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่ง จำกัด และตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ว่าให้บริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่ง จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันพิพาท ตลอดจนมีหน้าที่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดีเมื่อรถยนต์เกิดความเสียหายขึ้นไม่ว่าในกรณีใด ๆโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบตามสัญญาเช่าซื้อ และเมื่อได้ใช้เงินให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้วรถยนต์ก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 โดยตรง ถึงแม้โจทก์กับจำเลยที่ 2 จะได้ตกลงระบุให้บริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่ง จำกัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์ แต่บริษัทดังกล่าวยังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ดังนี้โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่เคยเสนอเงื่อนไขตามกรมธรรม์ข้อ 3.5.3 จะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจำเลยที่ 2จะได้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่รถยนต์คันพิพาทหาย โจทก์ได้ไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจและแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ปฏิเสธความรับผิดไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น และจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าบริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่ง จำกัด ได้ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อรถเพราะโจทก์มิได้ผ่อนชำระค่างวดก็ดี และบริษัทสยามราษฎร์ลีสซิ่งจำกัด ไม่เคยยินยอมให้โจทก์ฟ้องก็ดี เป็นข้อที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นเรื่องนอกประเด็น แม้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับประเด็นข้อสุดท้ายจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.5ที่มีเงื่อนไขข้อ 3.8.4 ระบุไว้ว่า “การยกเว้นการใช้การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง การใช้โดยบุคคลของอู่ เมื่อรถยนต์ได้มอบหมายให้อู่ทำการซ่อมแซม เว้นแต่การซ่อมแซมนั้นบริษัทเป็นผู้สั่งหรือให้ความยินยอม”การที่โจทก์นำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ไม่ได้สั่งหรือให้ความยินยอม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่า จากคำเบิกความของนายไพรัชต์ ลิ้มสุวรรณ พยานจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อรถยนต์คันพิพาทเกิดอุบัติเหตุ โจทก์ไม่ประสงค์จะซ่อมกับอู่ในเครือจำเลยที่ 2นายไพรัชต์จึงออกใบติดต่อให้โจทก์ไป เมื่อซ่อมเสร็จต้องนำมาให้ตรวจก่อนจึงจะจ่ายเงินให้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ซ่อมอู่จำเลยที่ 1 ได้ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการใช้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ข้อ 3.8.4
พิพากษายืน