คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวและฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะลงชื่อในใบแต่งทนาย 2 แห่งโดยมิได้ระบุว่าลงชื่อในฐานะอะไรก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในฐานะที่เป็นจำเลยเองแห่งหนึ่ง กับลงชื่อในนามบริษัทซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 อีกแห่งหนึ่งแล้ว
การใช้ดวงตราซึ่งมิใช่ดวงตราที่บริษัทจดทะเบียนไว้ไปประทับในใบแต่งทนายนั้น ถือว่าใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้อง แม้จะนำดวงตรานี้ไปจดทะเบียนภายหลัง ก็หามีผลย้อนหลังเป็นการรับรองให้การใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้องนั้นเป็นการใช้ได้ขึ้นมาอย่างใดไม่
เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทมีมติให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว ผู้ชำระบัญชีนั้นก็ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีในนามบริษัท และอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้แทนตนในคดีอีกชั้นหนึ่งได้ การลงลายมือชื่อของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องประทับตราอย่างใด ฉะนั้น เพียงแต่ผู้รับมอบอำนาจลงชื่ออย่างเดียวในใบแต่งทนาย ก็มีผลเป็นการแต่งทนายในนามบริษัทนั้นแล้ว แม้ผู้รับมอบอำนาจเอาดวงตราที่ไม่เคยจดทะเบียนมาประทับด้วย ก็ไม่ทำให้ใบแต่งทนายเสียไป

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยหาว่าละเมิดเรียกค่าเสียหายจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ในระหว่างที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องจำเลยขอให้พิจารณาใหม่ โจทก์ยื่นคำร้องและขอเพิ่มเติมคำร้องว่า ความเพิ่งปรากฏแก่โจทก์ว่าใบแต่งทนายความของจำเลยรวม ๓ ฉบับที่จำเลยได้ยื่นไว้ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วใช้ไม่ได้ ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำคู่ความของจำเลยทั้งหมด และมีคำสั่งว่าคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยไม่สมบูรณ์ ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย
จำเลยแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าใบแต่งทนายของจำเลยทั้ง ๓ ฉบับมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อใบแต่งทนายระบุไว้ตอนต้นแล้วว่านายสหัท มหาคุณ ที่ ๑ นายสนั่น มหาคุณ ที่ ๒ และบริษัทสหศิลาพาณิชย์ จำกัด โดยนายสหัท มหาคุณ กรรมการ ที่ ๓ จำเลยเป็นผู้แต่งทนาย ก็ถือได้ว่าลายมือชื่อนายสหัทที่ลงไว้ ๒ แห่งในใบแต่งทนายนั้น นายสหัทได้ลงชื่อในฐานะที่นายสหัทเป็นจำเลยเองอย่างหนึ่ง กับลงชื่อในนามบริษัทจำเลยที่ ๓ อีกแห่งหนึ่ง หาจำต้องจดแจ้งลงชื่อในฐานะอะไรอีกไม่
เห็นว่า เมื่อดวงตราสี่เหลี่ยมมิใช่ดวงตราที่บริษัทจำเลยที่ ๓ จดทะเบียนไว้ ก็ต้องถือว่านายสหัทใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้องประทับในใบแต่งทนาย การนำดวงตราไปจดทะเบียนในภายหลังย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียน หามีผลย้อนหลังเป็นการรับรองให้การใช้ดวงตราไม่ถูกต้องนั้นเป็นการใช้ได้ขึ้นมาอย่างใดไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าก่อนการแต่งทนายในเรื่องนี้ นายสหชัยผู้ชำระบัญชีบริษัท จำเลยที่ ๓ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสหัทเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงแทนบริษัทจำเลยที่ ๓ ได้ นายสหัทย่อมลงชื่อเป็นผู้แต่งทนายในนามบริษัทจำเลยที่ ๓ ได้ เพราะเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๓ มีมติพิเศษให้เลิกบริษัทและตั้งนายสหชัยเป็นผู้ชำระบัญชีแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๙ และมาตรา ๑๒๕๙ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๖๐ นายสหชัยก็เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีในนามบริษัทจำเลยที่ ๓ และอาจมอบอำนาจให้นายสหัทเป็นผู้แทนตนในคดีอีกชั้นหนึ่งได้ การลงลายมือชื่อของผู้ชำระบัญชีหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ชำระบัญชีก็ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องประทับตราอย่างใดด้วย ฉะนั้น ใบแต่งทนายของบริษัทจำเลยที่ ๓ นั้น นายสหัทเพียงแต่ลงชื่ออย่างเดียว ก็มีผลเป็นการแต่งทนายในนามของบริษัทจำเลยที่ ๓ แล้ว จะประทับตราอย่างใดด้วยหรือไม่หาเป็นข้อสำคัญไม่ ทั้งนี้ ถึงแม้การจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่ได้กระทำให้สำเร็จไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๔ ดั่งที่นายสหชัยไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมไปชำระนั้นก็ตาม ก็ไม่กระทบกระเทือนการเลิกบริษัทและการแต่งตั้งนายสหชัยเป็นผู้ชำระบัญชี ยังคงต้องถือว่าบริษัทจำเลยที่ ๓ ได้เลิกไปแล้ว และนายสหชัยเป็นผู้ชำระบัญชีอยู่
ฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์

Share