คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลชั้นต้นไม่เกินห้าหมื่นบาทศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานโจทก์คือ น. กับ ส. และร้อยตำรวจโทส. พนักงานสอบสวน ไม่ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทั้งในเอกสารบันทึกประจำวันก็ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวเช่นเดียวกัน เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์ที่นำสืบรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 4ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โจทก์ฎีกาว่าคำเบิกความของร้อยตำรวจโท ส. มีความหมายอยู่ในตัวว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน82-5853 กรุงเทพมหานคร มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งโดย จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน70-0752 กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3เป็นผู้ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ในนามตงบริการ ส่วนจำเลยที่ 4เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในการขับรถยนต์คันดังกล่าวรับจ้างบรรทุกสินค้าและอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 เวลาประมาณ10 นาฬิกา ในอายุสัญญารับประกันภัยของโจทก์นายประสิทธิ์ แก้ววันนาซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน82-5853 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนสุขุมวิทจากบางปูมุ่งหน้าไปหอนาฬิกาด้วยความระมัดระวัง เมื่อรถแล่นมาถึง บริเวณแยกโพธิสัตย์ ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-0752 กรุงเทพมหานครด้วยความประมาทเลินเล่อใช้ความเร็วสูงมาถึงทางแยกโพธิสัตย์ซึ่งเป็นทางแยกจะไปบางปูโดยจำเลยที่ 4 ไม่ลดความเร็วจึงไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทัน รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวต้องนำไปซ่อมจนเรียบร้อย โดยจ่ายค่าซ่อมและค่าอะไหล่ไปเป็นเงิน 36,000 บาทกับค่ายกลากจากสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองสมุทรปราการ ไปยังอู่ซ่อมรถเป็นเงินอีก 1,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 37,000 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,775 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,775 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 37,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจใด ๆ จากจำเลยที่ 2 ที่ 4 จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-0752 กรุงเทพมหานครเข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 4 โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลชั้นต้นไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานโจทก์คือนายนิพนธ์จันทรสมบูรณ์ และนายสุจินต์ เจนตระกูล พนักงานของโจทก์ไม่ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ร้อยตำรวจโทสุรชาติ รอดพิทักษ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น จึงเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 4 ตามบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.6 ขณะเกิดเหตุเข้าวิ่งในเส้นทางของจำเลยที่ 1โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการรับจ้างบรรทุกของให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสี่มอบให้จำเลยที่ 3 เป็นคนเจรจาเรื่องค่าเสียหายแต่ต้องปรึกษาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อน ร้อยตำรวจโทสุรชาติไม่ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทั้งในเอกสารหมาย จ.6 ก็ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวเช่นเดียวกัน เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์ที่นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของร้อยตำรวจโทสุรชาติมีความหมายอยู่ในตัวว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4เป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจโทสุรชาติตามที่ปรากฏในสำนวนแล้วทั้งสิ้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share