คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่า จำเลยยอมผ่อนชำระเงินให้โจทก์เป็นรายเดือน ๆ ละ 1,200 บาท เริ่มแต่วันที่ 5 มิถุนายนและต่อไปภายใน วันที่ 5 ของเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ ผิดนัด 2 งวดติดกันยอมให้บังคับคดี ปรากฏว่าในวันที่ 5 มิถุนายน จำเลยนำเงินมาผ่อนชำระตามสัญญา ครั้นถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ครบกำหนด จำเลยไม่นำเงินมาชำระแต่พอถึงวันที่ 5 สิงหาคม จำเลยนำมาชำระและถึงวันที่ 5 กันยายน จำเลยไม่นำมาชำระอีก ดังนี้ เมื่อข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความมีปรากฏว่า จำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือนเริ่มต้นแต่วันที่ 5 มิถุนายน และเดือนต่อ ๆ ไปภายในวันที่ 5 ของเดือน การที่จำเลยไม่ชำระเงินภายในวันที่ 5 กรกฎาคมแต่มาชำระเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมเป็นเงินที่จำเลยชำระประจำเดือนกรกฎาคมและเงินที่จำเลยจะต้องชำระประจำเดือนสิงหาคม จึงยังคงค้างชำระอยู่เมื่อจำเลยค้างชำระเงินประจำเดือนสิงหาคมอยู่หนึ่งเดือนแล้ว ต่อมาเมื่อภายในวันที่ 5 กันยายน จำเลยไม่ชำระอีกเช่นนี้ก็ต้องถือว่าจำเลยได้ค้างชำระในงวดประจำเดือนกันยายนด้วย จึงเป็นการผิดนัดสองงวดติดกันแล้ว ศาลย่อมออกหมายบังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างตามคำพิพากษาได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์ 30,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เป็นรายเดือน ๆ ละ1,200 บาท เริ่มแต่วันที่ 5 มิถุนายน เป็นต้นไป และต่อไปก็ภายในวันที่ 5 ของเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ การชำระจะนำเงินมาวางต่อศาลผิดนัดสองงวดติดกันยอมให้บังคับคดีของเงินที่ค้างชำระ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ถึงกำหนดวันที่ 5 มิถุนายนจำเลยนำเงินมาวางศาลตามสัญญา พอวันที่ 5 กรกฎาคม ครบกำหนดงวดที่ 2 จำเลยไม่นำเงินมาวางศาล ถึงกำหนดงวดที่ 3 วันที่ 5 สิงหาคม จำเลยนำเงินมาวางศาลถึงกำหนดงวดที่ 4 วันที่ 5 กันยายน จำเลยไม่นำเงินมาวาง สรุปแล้วจำเลยนำเงินมาวางเดือนเว้นเดือนตลอดมา รวมที่จำเลยขาดชำระเป็นเวลา 7 เดือน ทำให้โจทก์เสียหายเป็นจำนวน 8,400 บาท ขอให้ออกหมายบังคับจำเลยชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดตามคำพิพากษา

จำเลยยื่นคำแถลงว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,200 บาท ผิดนัดสองงวดติดกันจึงให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด จำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ถูกต้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยยังไม่เคยผิดนัดสองงวดติดกันเลย จำเลยจึงไม่ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนเว้นเดือนเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ตามสัญญายอมเพียง 8 งวด เท่านั้น จำเลยคงค้างชำระหนี้แก่โจทก์อีก 7 งวด ถือได้ว่าจำเลยผิดนัดค้างชำระหนี้เกินกว่า2 งวดติด ๆ กัน ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์บังคับคดีได้ตามคำพิพากษาตามยอมให้ออกหมายบังคับคดี

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่าจำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 1,200 บาท เริ่มแต่วันที่ 5 มิถุนายนเป็นต้นไปและต่อไปภายในวันที่ 5 ของเดือน ผิดนัดสองงวดติดกันยอมให้บังคับคดีย่อมหมายความว่า การชำระต้องชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 1,200 บาท โดยเริ่มต้นแต่วันที่ 5 มิถุนายน และเดือนต่อ ๆ ไปก็ให้ชำระเป็นรายเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนที่ถัดต่อไป การที่จำเลยชำระเดือนหนึ่งแล้วเว้นไม่ชำระเดือนหนึ่งนั้นเป็นการชำระ 2 เดือนต่อครั้งหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการชำระเป็นรายเดือนและต่อไปภายในวันที่ 5 ของเดือนตามความหมายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉะนั้น การที่จำเลยไม่ชำระเงินภายในวันที่ 5 กรกฎาคม แต่มาชำระเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เช่นนี้ เงินที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนั้นจะถือว่าเป็นเงินที่ชำระประจำเดือนสิงหาคมย่อมไม่ได้ เพราะจำเลยจะต้องชำระเงินรายเดือนประจำเดือนกรกฏาคมเสียก่อน เหตุนี้เงินที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนั้นต้องถือว่าเป็นเงินที่ชำระประจำเดือนกรกฏาคมนั่นเอง ส่วนเงินที่จำเลยจะต้องชำระประจำเดือนสิงหาคมภายในวันที่ 5 สิงหาคม จำเลยจึงยังคงค้างชำระอยู่ เมื่อจำเลยค้างชำระเงินประจำเดือนสิงหาคมอยู่หนึ่งเดือนแล้ว ต่อมาเมื่อภายในวันที่ 5 กันยายน จำเลยไม่ชำระอีกเช่นนี้ก็ต้องถือว่า จำเลยได้ค้างชำระในงวดประจำเดือนกันยายนด้วย จึงเป็นการค้างชำระ 2 เดือนติดกันและเป็นการผิดนัดสองงวดติดกันแล้ว ศาลย่อมออกหมายบังคับจำเลยชำระหนี้ที่ค้างตามคำพิพากษาได้

พิพากษายืน

Share