แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ร่วมไปหากู้เงินผู้อื่นไม่ใช่เพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมดังฟ้อง เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้นางสาวลัดดาวัลย์ลิมปิพิพัฒน์ผู้เสียหาย เป็นการชำระหนี้ในการแลกเงินสด ผู้เสียหายนำเช็คไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว คดีนี้โจทก์มีโจทก์ร่วมผู้เดียวนำสืบว่า วันที่ 15 สิงหาคม 2509 จำเลยนำเช็คพิพาทหมาย จ.1 ยังไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายมาขอแลกเงินสด 10,000 บาท จากโจทก์ร่วมเพียงชั่วระยะวันเดียว โจทก์ร่วมลงวันสั่งจ่ายเงินในเช็คเสียเองว่า วันที่ 16-8-66 (ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2509) แล้วนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ จึงดำเนินคดีกับจำเลยเห็นว่า ถ้าได้มีการนำเช็คมาแลกเงินสดและกำหนดใช้เงินคืนเพียงวันเดียวกันจริง จำเลยจะต้องเป็นผู้เขียนวันสั่งจ่ายเงินในเช็คเอง เพราะตอนตกลงกันได้รู้กำหนดกันอยู่แล้วว่ามีกำหนดเพียงวันเดียว การที่จำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายเงินไว้เช่นนี้น่าจะเป็นเพราะจำเลยกับโจทก์ร่วมตกลงกันออกเช็คมอบให้โจทก์ร่วมนำไปขอกู้ยืมเงินจากผู้อื่น พิเคราะห์เช็คพิพาทหมาย จ.1 แล้ว เป็นเช็คที่ธนาคารมอบให้จำเลยซึ่งมีบัญชีฝากเงินอยู่ในธนาคารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2506 โดยเห็นได้จากตราวันที่ประทับฆ่าอาคารแสตมป์บนเช็คว่า “10 กรกฎาคม 2506″ จำเลยมีอาชีพค้าขายต้องสั่งจ่ายเช็คมาก ไม่น่าเชื่อว่าเช็คของจำเลยรุ่นนั้นจะยังคงเหลือนำมาใช้แลกเงินโจทก์ร่วมถึงในเดือนสิงหาคม 2509ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง 3 ปีเช่นนี้ อีกประการหนึ่งโจทก์ร่วมได้นำตำรวจจับจำเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2508 เรื่องจำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ร่วมนำไปแลกเงินสดจากนายชวลิต นายชวลิตนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้มาครั้งหนึ่งและหลังจากนั้น 2-3 วัน โจทก์ร่วมแจ้งความต่อตำรวจหาว่าจำเลยออกเช็คให้โจทก์ร่วมแล้วไม่มีเงินจนจำเลยต้องถูกฟ้องศาลผลที่สุดมีการประนีประนอมกันโดยโจทก์ร่วมและจำเลยต่างจะคืนเช็คให้แก่กัน มีการแลกเช็คกันต่อหน้าศาลฝ่ายละ 3-4 ฉบับ เป็นเงิน ฝ่ายละ 40,000 บาทเศษ คดีจึงเลิกกันเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2508 เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องสร้างความโกรธเคืองขึ้นแก่จำเลยและโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมย่อมไม่ไว้วางใจจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมจะรับเช็คของจำเลยเพื่อแลกเงินสดตามที่กล่าวหากันในคดีนี้ในเวลาต่อมาอีกยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าวันที่ 15 สิงหาคม 2509 ที่โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากโจทก์ร่วม เป็นวันเดียวกันกับวันที่จำเลยถูกหมายเรียกให้ ไปเป็นพยานของโจทก์ร่วมที่ศาลแพ่งในคดีที่นายชวลิตฟ้องโจทก์ร่วมเป็นจำเลย เรียกเงินจำนวนหนึ่งในฐานะผู้ค้ำประกันเนื่องจากโจทก์ร่วมค้ำประกันจำเลยไว้ จำเลยไม่ยอมไปเป็นพยานให้ถึง 2 ครั้ง จนศาลต้องออกหมายจับจำเลย ดังนี้เห็นว่า แม้แต่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยไปช่วยเป็นพยาน จำเลยยังไม่ยอมไป ทำไมโจทก์ร่วมจึงจะยอมให้จำเลยนำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดถึง 10,000 บาท ในวันเดียวกันอีก พยานหลักฐานของโจทก์ขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาเชื่อไม่ได้แล้ว ลำพังคำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนก็หาเพียงพอที่จะฟังมาลงโทษจำเลยได้ไม่ รูปคดีน่าเชื่อดังข้อนำสืบของจำเลยว่า โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันออกเช็คมอบให้แก่กันเพื่อนำไปกู้เงินผู้อื่นมาลงทุนค้าขายและหาดอกเบี้ยกัน เพราะโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเพื่อนรักใคร่ชอบพอกันมาแต่ครั้งเป็นนักเรียน 10-20 ปีแล้ว เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ธนาคารมอบให้จำเลยไว้สำหรับสั่งจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2506 จำเลยคงออกเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ร่วมไปหากู้เงินผู้อื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2506 โจทก์ร่วมจึงได้เขียนวันที่ดังกล่าวไว้ด้วยดินสอตามที่ปรากฏอยู่ด้านหลังเช็คพิพาท การปฏิบัติระหว่างกันเช่นนี้จึงทำให้แต่ละฝ่ายมีเช็คของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในมือคนละหลายฉบับ ดังที่ปรากฏเมื่อครั้งโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเรื่องเช็คแล้วตกลงกันได้จึงมีการแลกเช็คกันแต่ละฝ่ายคนละหลายฉบับ ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าเช็คพิพาทจำเลยออกมอบให้โจทก์ร่วมไว้เพื่อนำไปกู้ยืมเงินผู้อื่นไม่ใช่เพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ร่วมดังฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์”