แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)2496ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะมิใช่กฎหมายที่ให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญาหรือลงโทษบุคคลหนักขึ้นกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำผิด
บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักร แต่บิดาเป็นคนต่างด้าวนั้น เมื่อสมัครใจรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวย่อมขาดสัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 มาตรา 5 ไม่ว่าจะขอรับใบสำคัญก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายบ้วนง่วนคนสัญชาติจีนและนางแอ๋มคนสัญชาติไทยเกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นคนไทยตามกฎหมายทั้งโดยทางสัญชาติและโดยทางดินแดน อายุ 5 ปีโจทก์ไปประเทศจีนกลับมาได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นคนต่างด้าวโดยความเข้าใจผิด บัดนี้โจทก์ปรารถนาจะได้สิทธิและหน้าที่เช่นคนไทยทั้งหลายจึงยื่นคำร้องต่อกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วไม่อนุญาต จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเกิดที่จังหวัดแต้จิ๋ว ประเทศจีน จึงเป็นคนสัญชาติจีน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์เกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองจังหวัดน่านจริง แต่เมื่อโจทก์รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วก็ขาดจากสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496มาตรา 5 ซึ่งได้เพิ่มมาตรา 16 ทวิแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495 พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา เป็นปัญหาสองประการ คือ 1. พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 จะใช้บังคับคดีนี้ได้หรือไม่
ปัญหาข้อแรกศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะมิใช่กฎหมายที่ให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญา หรือลงโทษบุคคลหนักขึ้นกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำผิดส่วนในปัญหาข้อที่ 2 นั้นแม้โจทก์จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดก็ดีและโจทก์สมัครใจขอรับใบสำคัญประจำตัวเป็นคนต่างด้าว โจทก์ก็ขาดจากสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 5ซึ่งเพิ่มเติมมาตรา 16 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ให้เป็นมาตรา 16 ทวิ พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้ใช้บังคับได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้ พิพากษายืน